วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การใช้นำหมักปลาร้าเพิ่มผลผลิตอ้อย

การใช้น้ำปลาร้า(ปลาทะเล)ปรับปรุงดินในไร่อ้อย



        ในแถบภาคตะวันตกนับเป็นแหล่งผลิตอ้อยที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งทั้งนี้เพราะมี สภาพดินฟ้า
อากาศที่เหมาะสมกล่าวคือเป็นเขตกึ่งร้อน มีปริมาณน้ำฝนและแสงแดดเพียงพอ โดยทั่วๆไปอ้อย
เจริญเติบโตได้ช้าในที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส แต่ขึ้นได้ดีใน อุณหภูมิที่สูงกว่า ๒๐ องศาเซลเซียส และในพื้นที่ที่ไม่มีการชลประทานจะต้อง มีน้ำฝน 1.5 เมตรต่อปีหรือมากกว่านั้น อ้อยเจริญเติบโตได้ช้าในเดือน แรก ๆ อ้อยที่มีอายุปลูกมาก ๆ จะมีระยะเวลาเจริญเติบโตได้นานและให้ผลผลิต สูง จะเก็บเกี่ยวอ้อยเมื่อมีอายุ 11-12 เดือน


--------------------------------------------------------------------------------



      นายสุพจน์ แสงประทุม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จังหวัดราชบุรีกล่าวว่าแม้อ้อยปลูกได้ในดินเกือบทุกชนิดแต่ก็อาจเจริญเติบโต ช้า แคระแกรน หากดินขาดความโปร่งซุยอากาศและน้ำถ่ายเทไม่สะดวกเพราะ ต้นอ้อยขณะยังเล็กจะไม่สามารถทนต่อสภาพน้ำท่วมหรือขังได้ ดินที่ใช้ปลูกเป็นกรดหรือด่างมากเกินไป และขาดธาตุอาหารสมบูรณ์ สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่2 ได้ตระหนักในเรื่องนี้จึงมุ่งส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพและเพิ่มศักยภาพการผลิต โดยเน้นให้เกษตรกรมีการปรับปรุงบำรุงดินให้มีศักยภาพ และเหมาะสมต่อการเพาะปลูก โดยได้แนะนำให้เกษตรกรใช้เทคนิคการจัดการการผลิตอ้อยที่ง่ายๆ สะดวกปลอดภัยและรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ในขณะเดียวกันทำให้ผลผลิตอ้อยเพิ่มพร้อมทั้ง ลดต้นทุน ด้านสารเคมีลงจำนวนมากโดยการใช้น้ำหมักปลาร้าหรือน้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเล ซึ่งพบว่าเกษตรกรต้นแบบที่ใช้เทคนิคนี้ ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 35 และลดต้นทุนจากการใช้สารเคมีลงมากกว่าร้อยละ 80

      เกษตรกร ต้นแบบที่ได้นำน้ำหมักปลาร้าไปใช้ในแปลงอ้อยแล้วประสบผลสำเร็จรายหนึ่งคือ
นางทองกลม ชูเลิศ อายุ 50 ปี บ้านเลขที่ 114 หมู่ 10 ตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีอาชีพปลูกอ้อยส่งโรงงาน ในพื้นที่ของตนเอง 50 ไร่ และพื้นที่เช่า อีก 70 ไร่ รวมเป็น 120 ไร่ และได้ร่วมกับสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 ในการศึกษาทดลองการใช้น้ำหมักปลาร้าโดยแบ่งพื้นที่แปลงปลูกอ้อย จำนวน 30 ไร่ ภายใต้คำแนะนำและกำกับดูแลของนายวิชัย ซ้อนมณีนักวิชาการเกษตร 7ว ซึ่งผลการเป็นผู้ดำเนินการ พบดังนี้

     ตั้งแต่เริ่มวางท่อนพันธุ์อ้อยจนท่อนพันธุ์อ้อยได้ 1 ศอกหรืออายุได้ประมาณ 3 เดือน ได้กำหนดเริ่มการฉีดพ่นน้ำหมักปลาร้า 1 ครั้ง โดยฉีดที่โคนและใบ ใน อัตราน้ำหมักปลาร้าที่ใช้ 1:100 (1 ลิตร:น้ำ100 ลิตร) อัตราการฉีดพ่นจะกำหนดให้น้ำที่ ผสมน้ำหมักปลาร้าแล้ว จำนวน 100 ลิตร ให้ฉีดพ่นพอดีกับพื้นที่ 1 ไร่ ต่อความหวาน (น้ำตาล) 13% ดังนั้น พื้นที่ปลูกอ้อย 30 ไร่ จะใช้ น้ำหมักปลาร้า จำนวน 60 ลิตร ซึ่งก่อนการฉีดพ่นน้ำหมักปลาร้า ต้นอ้อย ยังมีการเจริญเติบโตไม่ดีนัก มีความสูงเฉลี่ย 1.00 – 1.20 เมตร ลักษณะใบอ้อยพับงอลงทั้แปลง ปลายยอดจะห่อเมื่อโดนแสงแดด กาบใบด้านล่างจะแห้งตั้งแต่กาบด้านในที่หุ้มลำต้น จนถึงปลายใบหมดทั้งแปลง ทรงพุ่มการเจริญเติบโตไม่เป็น รูปทรงสม่ำเสมอกัน มีต้นเล็กใหญ่สลับกันทุกกออ้อย

    แต่หลังจากการฉีดพ่นน้ำหมักปลาร้านี้ มีข้อค้นพบการเปลี่ยนแปลงอันดับแรกคือใบอ้อยจะชูขึ้นตั้งตรงทุกใบ ไม่หลบแสงแดด เมื่ออากาศร้อนจัดแต่ละวัน ช่วงเวลา 11.00-15.00 น. ทั่วทั้ง
แปลงและใบที่ห่อม้วนเข้าหากัน เพื่อป้องกันการคายน้ำ ก็จะเริ่มคลีjใบออกมาด้านกว้าง มีการเปลี่ยนแปลงของต้นและใบอ้อยทุกส่วนให้เห็นได้ชัดเจน เช่น ความสูงของ ลำอ้อยจะสูงขึ้น 4-5 ซม. ความอวบใหญ่ของลำอ้อยจากการวัดนิ้วมือโอบรอบขยาย 2-3 ซม. ความสูงของต้นถึงปลายใบทั้งต้นเฉลี่ย 7-10 ซม.

     มีข้อค้นพบว่าการฉีดพ่นน้ำหมักปลาร้าที่เหมาะสมแก่อ้อยคือ 2 ครั้ง/ปี คือช่วงแรกอายุ 3 เดือน 1
ครั้ง อัตรา 1:100 และช่วงที่ 2 อายุ 5 เดือน ในอัตรา 1:100 ดังนั้น พอเข้าเดือนที่ 5 ก็ทำการฉีดอีกครั้งโดยใช้อัตรา 1 ต่อ 100 เหมือนเดิม แต่ ตอนนี้ฉีดโคนอย่างเดียว และไม่ต้องฉีดแล้วจนกระทั่งทำการเก็บเกี่ยว จนอายุครบ 1 ปี หรือ 12 เดือน

    นางทองกลมเกษตรกรต้นแบบมีความพึงพอใจในน้ำหมักปลาร้านี้มาก ทั้งนี้เพราะช่วยปรับ
สภาพดินให้ร่วนซุยมากขึ้น และไม่พบการระบาดของหนอนกินราก หรือหนอนกอมารบกวน อีกทั้ง
ปริมาณน้ำหนักของอ้อยที่ได้มีปริมาณน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จึงนับว่าน้ำหมักปลาร้าเป็นทั้งปุ๋ยบำรุงดินและยาควบคุมศัตรูพืชควบคู่กันไป ทำให้เกิดความปลอดภัยต่อร่างกายและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมนอกจากนี้ นางทองกลมยังได้เผย เทคนิคการฉีดพ่นน้ำหมักปลาร้าจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ต้องดำเนินการใน ช่วงเวลาอากาศเย็น หลังฝนตกหรือช่วงเวลาเย็นที่ไม่มีแสงแดดจะดีที่สุด เพราะมีความชื้นที่เหมาะแก่การมีชีวิตของจุลินทรีย์ในน้ำหมักปลาร้าที่จะซึม เข้าไปสู่ส่วนของใบ ลำต้น และลงสู่ดินที่จะขยายตัว แทรกซึมเข้าสู่ทุกอนุของเม็ดดินที่มีความชื้นอยู่ในดิน จุลินทรีย์ก็จะทำ หน้าที่ย่อยสลาย วัตถุอินทรีย์ ปุ๋ยเคมีที่ตกค้าง และสุดท้ายจะปรับสภาพ ความเป็นกรดด่างของดินให้เป็นกลางเหมาะ แก่การดูดซึมของรากพืช

     นายวิชัยได้กล่าวเสริมว่าเหตุที่น้ำหมักปลาร้านี้มีคุณสมบัติในการช่วยเพิ่มผลผลิตแก่อ้อยเนื่องจาก
เกิดจากการหมักของน้ำหมักปลาทะเล และมีการหมักนาน 8-10 เดือน ทำให้มีธาตุอาหารที่พืชต้องการครบถ้วน ซึ่งได้รับการตรวจสอบคุณภาพธาตุอาหารจากกรมวิชาการเกษตร ทุกครั้ง ก่อนที่จะนำไปเผยแพร่ให้เกษตรกรนำไปใช้ หากเกษตรกรท่านใดที่สนใจการจัดการการผลิตอ้อยด้วยน้ำหมักปลาร้านี้สามารถขอ รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี 70110 หรือ โทร.0-3220-1568 หรือ 08-9790-1882 และ 08-1375-5191

     นายสุพจน์กล่าวในตอนท้ายว่า คาดว่าแปลงไร่อ้อยของนางทองกลมจะเป็นต้นแบบการพัฒนา
เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตอ้อยที่ยั่งยืน สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นขณะที่ใช้พื้นที่ปลูกเท่าเดิม จะขยายผลไปยังเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยรายอื่นได้นำไปปฏิบัติตาม ทำให้เกิดความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 70 และในระยะยาวในเขตภาคตะวันตกน่าจะเป็นแหล่งผลผลิตอ้อยคุณภาพดีป้อนโรงงาน น้ำตาล ตลอดจนสามารถรองรับอุตสาหกรรมเอทานอลที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น ช่วยทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีราคาแพงได้อีกทางหนึ่งด้วย

ที่มา http://www.bionanothai.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น