วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เศรษฐกิจพอเพียง ( ในหลวงของเรา )

จุดเริ่มต้นแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

ผลจากการใช้แนวทางการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่สังคมไทยอย่างมากในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม สังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งกระบวนการของความเปลี่ยนแปลงมีความสลับซับซ้อนจนยากที่จะอธิบายในเชิงสาเหตุและผลลัพธ์ได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดต่างเป็นปัจจัยเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน
สำหรับผลของการพัฒนาในด้านบวกนั้น ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเจริญทางวัตถุ และสาธารณูปโภคต่างๆ ระบบสื่อสารที่ทันสมัย หรือการขยายปริมาณและกระจายการศึกษาอย่างทั่วถึงมากขึ้น แต่ผลด้านบวกเหล่านี้ส่วนใหญ่กระจายไปถึงคนในชนบท หรือผู้ด้อยโอกาสในสังคมน้อย
แต่ว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้เกิดผลลบติดตามมาด้วย เช่น การขยายตัวของรัฐเข้าไปในชนบท ได้ส่งผลให้ชนบทเกิดความอ่อนแอในหลายด้าน ทั้งการต้องพึ่งพิงตลาดและพ่อค้าคนกลางในการสั่งสินค้าทุน ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติ และการรวมกลุ่มกันตามประเพณีเพื่อการจัดการทรัพยากรที่เคยมีอยู่แต่เดิมแตกสลายลง ภูมิความรู้ที่เคยใช้แก้ปัญหาและสั่งสมปรับเปลี่ยนกันมาถูกลืมเลือนและเริ่มสูญหายไป
สิ่งสำคัญ ก็คือ ความพอเพียงในการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่ทำให้คนไทยสามารถพึ่งตนเอง และดำเนินชีวิตไปได้อย่างมีศักดิ์ศรีภายใต้อำนาจและความมีอิสระในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง ความสามารถในการควบคุมและจัดการเพื่อให้ตนเองได้รับการสนองตอบต่อความต้องการต่างๆ รวมทั้งความสามารถในการจัดการปัญหาต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นศักยภาพพื้นฐานที่คนไทยและสังคมไทยเคยมีอยู่แต่เดิม ต้องถูกกระทบกระเทือน ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจจากปัญหาฟองสบู่และปัญหาความอ่อนแอของชนบท รวมทั้งปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ล้วนแต่เป็นข้อพิสูจน์และยืนยันปรากฎการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี
พระราชดำริว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียง

“...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป...” (๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๗)
“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานมานานกว่า ๓๐ ปี เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งบนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรม เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ที่สำคัญจะต้องมี “สติ ปัญญา และความเพียร” ซึ่งจะนำไปสู่ “ความสุข” ในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง
“...คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทย พออยู่พอกิน มีความสงบ และทำงานตั้งจิตอธิษฐานตั้งปณิธาน ในทางนี้ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้...” (๔ ธันวาคม ๒๕๑๗)
พระบรมราโชวาทนี้ ทรงเห็นว่าแนวทางการพัฒนาที่เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลักแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะเกิดปัญหาได้ จึงทรงเน้นการมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่ในเบื้องต้นก่อน เมื่อมีพื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควรแล้ว จึงสร้างความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น
                        ซึ่งหมายถึง แทนที่จะเน้นการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมนำการพัฒนาประเทศ ควรที่จะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจพื้นฐานก่อน นั่นคือ ทำให้ประชาชนในชนบทส่วนใหญ่พอมีพอกินก่อน เป็นแนวทางการพัฒนาที่เน้นการกระจายรายได้ เพื่อสร้างพื้นฐานและความมั่นงคงทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ก่อนเน้นการพัฒนาในระดับสูงขึ้นไป
                   ทรงเตือนเรื่องพออยู่พอกิน ตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ คือ เมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้ว
                   แต่ทิศทางการพัฒนามิได้เปลี่ยนแปลง
                        “...เมื่อปี ๒๕๑๗ วันนั้นได้พูดถึงว่า เราควรปฏิบัติให้พอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนมีพอมีพอกิน ก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี และประเทศไทยเวลานั้นก็เริ่มจะเป็นไม่พอมีพอกิน บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย...” (๔ ธันวาคม ๒๕๔๑)
เศรษฐกิจพอเพียง
“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า ๒๕ ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการ ทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
                   ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง จึงประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังนี้
๑. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
๒. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ
๓. ภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
                        โดยมี เงื่อนไข ของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียง ๒ ประการ  ดังนี้
๑. เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในการปฏิบัติ
๒. เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้าง ประกอบด้วย มีความตระหนักใน คุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
ย้อนกลับด้านบน

พระราชดำรัสที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง
“...เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาของเศรษฐกิจ การที่ต้องใช้รถไถต้องไปซื้อ เราต้องใช้ต้องหาเงินมาสำหรับซื้อน้ำมันสำหรับรถไถ เวลารถไถเก่าเราต้องยิ่งซ่อมแซม แต่เวลาใช้นั้นเราก็ต้องป้อนน้ำมันให้เป็นอาหาร เสร็จแล้วมันคายควัน ควันเราสูดเข้าไปแล้วก็ปวดหัว ส่วนควายเวลาเราใช้เราก็ต้องป้อนอาหาร ต้องให้หญ้าให้อาหารมันกิน แต่ว่ามันคายออกมา ที่มันคายออกมาก็เป็นปุ๋ย แล้วก็ใช้ได้สำหรับให้ที่ดินของเราไม่เสีย...”
พระราชดำรัส เนื่องในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๙
                        “...เราไม่เป็นประเทศร่ำรวย เรามีพอสมควร พออยู่ได้ แต่ไม่เป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมาก เราไม่อยากจะเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก เพราะถ้าเราเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมากก็จะมีแต่ถอยกลับ ประเทศเหล่านั้นที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า จะมีแต่ถอยหลังและถอยหลังอย่างน่ากลัว แต่ถ้าเรามีการบริหารแบบเรียกว่าแบบคนจน แบบที่ไม่ติดกับตำรามากเกินไป ทำอย่างมีสามัคคีนี่แหละคือเมตตากัน จะอยู่ได้ตลอดไป...”
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔
                        “...ตามปกติคนเราชอบดูสถานการณ์ในทางดี ที่เขาเรียกว่าเล็งผลเลิศ ก็เห็นว่าประเทศไทย เรานี่ก้าวหน้าดี การเงินการอุตสาหกรรมการค้าดี มีกำไร อีกทางหนึ่งก็ต้องบอกว่าเรากำลังเสื่อมลงไปส่วนใหญ่ ทฤษฎีว่า ถ้ามีเงินเท่านั้นๆ มีการกู้เท่านั้นๆ หมายความว่าเศรษฐกิจก้าวหน้า แล้วก็ประเทศก็เจริญมีหวังว่าจะเป็นมหาอำนาจ ขอโทษเลยต้องเตือนเขาว่า จริงตัวเลขดี แต่ว่าถ้าเราไม่ระมัดระวังในความต้องการพื้นฐานของประชาชนนั้นไม่มีทาง...”
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๖
“...เดี๋ยวนี้ประเทศไทยก็ยังอยู่ดีพอสมควร ใช้คำว่า พอสมควร เพราะเดี๋ยวมีคนเห็นว่ามีคนจน คนเดือดร้อน จำนวนมากพอสมควร แต่ใช้คำว่า พอสมควรนี้ หมายความว่าตามอัตตภาพ...”
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙
                        “...ที่เป็นห่วงนั้น เพราะแม้ในเวลา ๒ ปี ที่เป็นปีกาญจนาภิเษกก็ได้เห็นสิ่งที่ทำให้เห็นได้ว่า ประชาชนยังมีความเดือดร้อนมาก และมีสิ่งที่ควรจะแก้ไขและดำเนินการต่อไปทุกด้าน มีภัยจากธรรมชาติกระหน่ำ ภัยธรรมชาตินี้เราคงสามารถที่จะบรรเทาได้หรือแก้ไขได้ เพียงแต่ว่าต้องใช้เวลาพอใช้ มีภัยที่มาจากจิตใจของคน ซึ่งก็แก้ไขได้เหมือนกัน แต่ว่ายากกว่าภัยธรรมชาติ ธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งนอกกายเรา แต่นิสัยใจคอของคนเป็นสิ่งที่อยู่ข้างใน อันนี้ก็เป็นข้อหนึ่งที่อยากให้จัดการให้มีความเรียบร้อย แต่ก็ไม่หมดหวัง...”
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙
                        “...การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตนเอง ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัวเอง จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไร ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก...”
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙.
                        “...เมื่อปี ๒๕๑๗ วันนั้นได้พูดถึงว่า เราควรปฏิบัติให้พอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนมีพอมีพอกิน ก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี และประเทศไทยเวลานั้นก็เริ่มจะเป็นไม่พอมีพอกิน บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย...”
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑
“...พอเพียง มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่าพอ ก็พอเพียงนี้ก็พอแค่นั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมี มีมากอาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น...”
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑
                        “...ไฟดับถ้ามีความจำเป็น หากมีเศรษฐกิจพอเพียงแบบไม่เต็มที่ เรามีเครื่องปั่นไฟก็ใช้ปั่นไฟ หรือถ้าขั้นโบราณกว่า มืดก็จุดเทียน คือมีทางที่จะแก้ปัญหาเสมอ ฉะนั้นเศรษฐกิจพอเพียงก็มีเป็นขั้นๆ แต่จะบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ให้พอเพียงเฉพาะตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์นี่เป็นสิ่งทำไม่ได้ จะต้องมีการแลกเปลี่ยน ต้องมีการช่วยกัน ถ้ามีการช่วยกัน แลกเปลี่ยนกัน ก็ไม่ใช่พอเพียงแล้ว แต่ว่าพอเพียงในทฤษฎีในหลวงนี้ คือให้สามารถที่จะดำเนินงานได้...”
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒
                        “...โครงการต่างๆ หรือเศรษฐกิจที่ใหญ่ ต้องมีความสอดคล้องกันดีที่ไม่ใช่เหมือนทฤษฎีใหม่ ที่ใช้ที่ดินเพียง ๑๕ ไร่ และสามารถที่จะปลูกข้าวพอกิน กิจการนี้ใหญ่กว่า แต่ก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน คนไม่เข้าใจว่ากิจการใหญ่ๆ เหมือนสร้างเขื่อนป่าสักก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน เขานึกว่าเป็นเศรษฐกิจสมัยใหม่ เป็นเศรษฐกิจที่ห่างไกลจากเศรษฐกิจพอเพียง แต่ที่จริงแล้ว เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน...”
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒
                        “...ฉันพูดเศรษฐกิจพอเพียงความหมายคือ ทำอะไรให้เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง คือทำจากรายได้ ๒๐๐-๓๐๐ บาท ขึ้นไปเป็นสองหมื่น สามหมื่นบาท คนชอบเอาคำพูดของฉัน เศรษฐกิจพอเพียงไปพูดกันเลอะเทอะ เศรษฐกิจพอเพียง คือทำเป็น Self-Sufficiency มันไม่ใช่ความหมายไม่ใช่แบบที่ฉันคิด ที่ฉันคิดคือเป็น Self-Sufficiency of Economy เช่น ถ้าเขาต้องการดูทีวี ก็ควรให้เขามีดู ไม่ใช่ไปจำกัดเขาไม่ให้ซื้อทีวีดู เขาต้องการดูเพื่อความสนุกสนาน ในหมู่บ้านไกลๆ ที่ฉันไป เขามีทีวีดูแต่ใช้แบตเตอรี่ เขาไม่มีไฟฟ้า แต่ถ้า Sufficiency นั้น มีทีวีเขาฟุ่มเฟือย เปรียบเสมือนคนไม่มีสตางค์ไปตัดสูทใส่ และยังใส่เนคไทเวอร์ซาเช่ อันนี้ก็เกินไป...”
พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล
๑๗ มกราคม ๒๕๔๔
ย้อนกลับด้านบน

ประเทศไทยกับเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นให้ผู้ผลิต หรือผู้บริโภค พยายามเริ่มต้นผลิต หรือบริโภคภายใต้ขอบเขต ข้อจำกัดของรายได้ หรือทรัพยากรที่มีอยู่ไปก่อน ซึ่งก็คือ หลักในการลดการพึ่งพา เพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมการผลิตได้ด้วยตนเอง และลดภาวะการเสี่ยงจากการไม่สามารถควบคุมระบบตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เศรษฐกิจพอเพียงมิใช่หมายความถึง การกระเบียดกระเสียนจนเกินสมควร หากแต่อาจฟุ่มเฟือยได้เป็นครั้งคราวตามอัตภาพ แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศ มักใช้จ่ายเกินตัว เกินฐานะที่หามาได้
                        เศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำไปสู่เป้าหมายของการสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจได้  เช่น โดยพื้นฐานแล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เศรษฐกิจของประเทศจึงควรเน้นที่เศรษฐกิจการเกษตร เน้นความมั่นคงทางอาหาร เป็นการสร้างความมั่นคงให้เป็นระบบเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง จึงเป็นระบบเศรษฐกิจที่ช่วยลดความเสี่ยง หรือความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้
เศรษฐกิจพอเพียง สามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกระดับ ทุกสาขา ทุกภาคของเศรษฐกิจ ไม่จำเป็นจะต้องจำกัดเฉพาะแต่ภาคการเกษตร หรือภาคชนบท แม้แต่ภาคการเงิน ภาคอสังหาริมทรัพย์ และการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ
โดยมีหลักการที่คล้ายคลึงกันคือ เน้นการเลือกปฏิบัติอย่างพอประมาณ มีเหตุมีผล และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเองและสังคม
ย้อนกลับด้านบน

การดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริพอเพียง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเข้าใจถึงสภาพสังคมไทย ดังนั้น เมื่อได้พระราชทานแนวพระราชดำริ หรือพระบรมราโชวาทในด้านต่างๆ จะทรงคำนึงถึงวิถีชีวิต สภาพสังคมของประชาชนด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางความคิด ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในทางปฏิบัติได้
แนวพระราชดำริในการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง
๑. ยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกด้าน ลดละความฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต
๒. ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง ซื่อสัตย์สุจริต
๓. ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์และแข่งขันกันในทางการค้าแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรง
๔. ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก ด้วยการขวนขวายใฝ่หาความรู้ให้มีรายได้เพิ่มพูนขึ้น จนถึงขั้นพอเพียงเป็นเป้าหมายสำคัญ
๕. ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่ว ประพฤติตนตามหลักศาสนา
ย้อนกลับด้านบน


ตัวอย่างเศรษฐกิจพอเพียง

  ทฤษฎีใหม่
ทฤษฎีใหม่ คือ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงที่เด่นชัดที่สุด ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรินี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่มักประสบปัญหาทั้งภัยธรรมชาติและปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อการทำการเกษตร ให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤต โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำได้โดยไม่เดือดร้อนและยากลำบากนัก
                   ความเสี่ยงที่เกษตรกร มักพบเป็นประจำ ประกอบด้วย
๑. ความเสี่ยงด้านราคาสินค้าเกษตร
๒. ความเสี่ยงในราคาและการพึ่งพาปัจจัยการผลิตสมัยใหม่จากต่างประเทศ
๓. ความเสี่ยงด้านน้ำ ฝนทิ้งช่วง ฝนแล้ง
๔. ภัยธรรมชาติอื่นๆ และโรคระบาด
๕. ความเสี่ยงด้านแบบแผนการผลิต
- ความเสี่ยงด้านโรคและศัตรูพืช
- ความเสี่ยงด้านการขาดแคลนแรงงาน
- ความเสี่ยงด้านหนี้สินและการสูญเสียที่ดิน
ทฤษฎีใหม่ จึงเป็นแนวทางหรือหลักการในการบริหารการจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ย้อนกลับด้านบน


ทฤษฎีใหม่
            ความสำคัญของทฤษฎีใหม่
๑. มีการบริหารและจัดแบ่งที่ดินแปลงเล็กออกเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน เพื่อประโยชน์สูงสุดของเกษตรกร ซึ่งไม่เคยมีใครคิดมาก่อน
๒. มีการคำนวณโดยใช้หลักวิชาการเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่จะกักเก็บให้พอเพียงต่อการเพาะปลูกได้อย่างเหมาะสมตลอดปี
๓. มีการวางแผนที่สมบูรณ์แบบสำหรับเกษตรกรรายย่อย โดยมีถึง ๓ ขั้นตอน

ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น
                        ให้แบ่งพื้นที่ออกเป็น ๔ ส่วน ตามอัตราส่วน ๓๐:๓๐:๓๐:๑๐ ซึ่งหมายถึง
                        พื้นที่ส่วนที่หนึ่ง ประมาณ ๓๐% ให้ขุดสระเก็บกักน้ำเพื่อใช้เก็บกักน้ำฝนในฤดูฝน และใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์และพืชน้ำต่างๆ
                        พื้นที่ส่วนที่สอง ประมาณ ๓๐% ให้ปลูกข้าวในฤดูฝนเพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันสำหรับครอบครัวให้เพียงพอตลอดปี เพื่อตัดค่าใช้จ่ายและสามารถพึ่งตนเองได้
                        พื้นที่ส่วนที่สาม ประมาณ ๓๐% ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย
                        พื้นที่ส่วนที่สี่ ประมาณ ๑๐% เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ ถนนหนทาง และโรงเรือนอื่นๆ
            ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สอง
                        เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ปฏิบัติในที่ดินของตนจนได้ผลแล้ว ก็ต้องเริ่มขั้นที่สอง คือให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูป กลุ่ม หรือ สหกรณ์ ร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินการในด้าน
                        (๑) การผลิต (พันธุ์พืช เตรียมดิน ชลประทาน ฯลฯ)
                        - เกษตรกรจะต้องร่วมมือในการผลิต โดยเริ่ม ตั้งแต่ขั้นเตรียมดิน การหาพันธุ์พืช ปุ๋ย การจัดหาน้ำ และอื่นๆ เพื่อการเพาะปลูก
                        (๒) การตลาด (ลานตากข้าว ยุ้ง เครื่องสีข้าว การจำหน่ายผลผลิต)
                        - เมื่อมีผลผลิตแล้ว จะต้องเตรียมการต่างๆ เพื่อการขายผลผลิตให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น การเตรียมลานตากข้าวร่วมกัน การจัดหายุ้งรวบรวมข้าว เตรียมหาเครื่องสีข้าว ตลอดจนการรวมกันขายผลผลิตให้ได้ราคาดีและลดค่าใช้จ่ายลงด้วย
                        (๓) การเป็นอยู่ (กะปิ น้ำปลา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ)
                        - ในขณะเดียวกันเกษตรกรต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร โดยมีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น อาหารการกินต่างๆ กะปิ น้ำปลา เสื้อผ้า ที่พอเพียง
                        (๔) สวัสดิการ (สาธารณสุข เงินกู้)
                        - แต่ละชุมชนควรมีสวัสดิภาพและบริการที่จำเป็น เช่น มีสถานีอนามัยเมื่อยามป่วยไข้ หรือมีกองทุนไว้กู้ยืมเพื่อประโยชน์ในกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน
                        (๕) การศึกษา (โรงเรียน ทุนการศึกษา)
                        - ชุมชนควรมีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษา เช่น มีกองทุนเพื่อการศึกษาเล่าเรียนให้แก่เยาวชนของชมชนเอง
                        (๖) สังคมและศาสนา
                        - ชุมชนควรเป็นที่รวมในการพัฒนาสังคมและจิตใจ โดยมีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยว
                        โดยกิจกรรมทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าส่วนราชการ องค์กรเอกชน ตลอดจนสมาชิกในชุมชนนั้นเป็นสำคัญ

ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สาม
                        เมื่อดำเนินการผ่านพ้นขั้นที่สองแล้ว เกษตรกร หรือกลุ่มเกษตรกรก็ควรพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ขั้นที่สามต่อไป คือติดต่อประสานงาน เพื่อจัดหาทุน หรือแหล่งเงิน เช่น ธนาคาร หรือบริษัท ห้างร้านเอกชน มาช่วยในการลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิต
                        ทั้งนี้ ทั้งฝ่ายเกษตรกรและฝ่ายธนาคาร หรือบริษัทเอกชนจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน กล่าวคือ
                        - เกษตรกรขายข้าวได้ราคาสูง (ไม่ถูกกดราคา)
                        - ธนาคารหรือบริษัทเอกชนสามารถซื้อข้าวบริโภคในราคาต่ำ (ซื้อข้าวเปลือกตรงจากเกษตรกรและมาสีเอง)
                        - เกษตรกรซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคได้ในราคาต่ำ เพราะรวมกันซื้อเป็นจำนวนมาก (เป็นร้านสหกรณ์ราคาขายส่ง)
                        - ธนาคารหรือบริษัทเอกชน จะสามารถกระจายบุคลากร เพื่อไปดำเนินการในกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดผลดียิ่งขึ้น
ย้อนกลับด้านบน

            หลักการและแนวทางสำคัญ

๑. เป็นระบบการผลิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระดับที่ประหยัดก่อน ทั้งนี้ ชุมชนต้องมีความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันทำนองเดียวกับการ “ลงแขก” แบบดั้งเดิมเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานด้วย
๒. เนื่องจากข้าวเป็นปัจจัยหลักที่ทุกครัวเรือนจะต้องบริโภค ดังนั้น จึงประมาณว่าครอบครัวหนึ่งทำนาประมาณ ๕ ไร่ จะทำให้มีข้าวพอกินตลอดปี โดยไม่ต้องซื้อหาในราคาแพง เพื่อยึดหลักพึ่งตนเองได้อย่างมีอิสรภาพ
๓. ต้องมีน้ำเพื่อการเพาะปลูกสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้ง หรือระยะฝนทิ้งช่วงได้อย่างพอเพียง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกันที่ดินส่วนหนึ่งไว้ขุดสระน้ำ โดยมีหลักว่าต้องมีน้ำเพียงพอที่จะเพาะปลูกได้ตลอดปี ทั้งนี้ ได้พระราชทานพระราชดำริเป็นแนวทางว่า ต้องมีน้ำ ๑,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ต่อการเพาะปลูก ๑ ไร่ โดยประมาณ ฉะนั้น เมื่อทำนา ๕ ไร่ ทำพืชไร่ หรือไม้ผลอีก ๕ ไร่ (รวมเป็น ๑๐ ไร่) จะต้องมีน้ำ ๑๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อปี
ดังนั้น หากตั้งสมมติฐานว่า มีพื้นที่ ๕ ไร่ ก็จะสามารถกำหนดสูตรคร่าวๆ ว่า แต่ละแปลง ประกอบด้วย
                        - นาข้าว ๕ ไร่
                        - พืชไร่ พืชสวน ๕ ไร่
                        - สระน้ำ ๓ ไร่ ขุดลึก ๔ เมตร จุน้ำได้ประมาณ ๑๙,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่เพียงพอที่จะสำรองไว้ใช้ยามฤดูแล้ง
                        - ที่อยู่อาศัยและอื่นๆ ๒ ไร่
                        รวมทั้งหมด ๑๕ ไร่
                        แต่ทั้งนี้ ขนาดของสระเก็บน้ำขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศและสภาพแวดล้อม ดังนี้
                        - ถ้าเป็นพื้นที่ทำการเกษตรอาศัยน้ำฝน สระน้ำควรมีลักษณะลึก เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำระเหยได้มากเกินไป ซึ่งจะทำให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี
                        - ถ้าเป็นพื้นที่ทำการเกษตรในเขตชลประทาน สระน้ำอาจมีลักษณะลึก หรือตื้น และแคบ หรือกว้างก็ได้ โดยพิจารณาตามความเหมาะสม เพราะสามารถมีน้ำมาเติมอยู่เรื่อยๆ
                        การมีสระเก็บน้ำก็เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างสม่ำเสมอทั้งปี (ทรงเรียกว่า Regulator หมายถึงการควบคุมให้ดี มีระบบน้ำหมุนเวียนใช้เพื่อการเกษตรได้โดยตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าแล้งและระยะฝนทิ้งช่วง แต่มิได้หมายความว่า เกษตรกรจะสามารถปลูกข้าวนาปรังได้ เพราะหากน้ำในสระเก็บน้ำไม่พอ ในกรณีมีเขื่อนอยู่บริเวณใกล้เคียงก็อาจจะต้องสูบน้ำมาจากเขื่อน ซึ่งจะทำให้น้ำในเขื่อนหมดได้ แต่เกษตรกรควรทำนาในหน้าฝน และเมื่อถึงฤดูแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงให้เกษตรกรใช้น้ำที่เก็บตุนนั้น ให้เกิดประโยชน์ทางการเกษตรอย่างสูงสุด โดยพิจารณาปลูกพืชให้เหมาะสมกับฤดูกาล เพื่อจะได้มีผลผลิตอื่นๆ ไว้บริโภคและสามารถนำไปขายได้ตลอดทั้งปี
                        ๔. การจัดแบ่งแปลงที่ดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคำนวณและคำนึงจากอัตราการถือครองที่ดินถัวเฉลี่ยครัวเรือนละ ๑๕ ไร่ อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรมีพื้นที่ถือครองน้อยกว่านี้ หรือมากกว่านี้ ก็สามารถใช้อัตราส่วน ๓๐:๓๐:๓๐:๑๐ เป็นเกณฑ์ปรับใช้ได้ กล่าวคือ
                                    ร้อยละ ๓๐ ส่วนแรก ขุดสระน้ำ (สามารถเลี้ยงปลา ปลูกพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักกะเฉด ฯลฯ ได้ด้วย) บนสระอาจสร้างเล้าไก่และบนขอบสระน้ำอาจปลูกไม้ยืนต้นที่ไม่ใช้น้ำมากโดยรอบได้
                                    ร้อยละ ๓๐ ส่วนที่สอง ทำนา
                                    ร้อยละ ๓๐ ส่วนที่สาม ปลูกพืชไร่ พืชสวน (ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอย ไม้เพื่อเป็นเชื้อฟืน ไม้สร้างบ้าน พืชไร่ พืชผัก สมุนไพร เป็นต้น)
                                    ร้อยละ ๑๐ สุดท้าย เป็นที่อยู่อาศัยและอื่นๆ (ทางเดิน คันดิน กองฟาง ลานตาก กองปุ๋ยหมัก โรงเรือน โรงเพาะเห็ด คอกสัตว์ ไม้ดอกไม้ประดับ พืชสวนครัวหลังบ้าน เป็นต้น)

อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวเป็นสูตร หรือหลักการโดยประมาณเท่านั้น สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม โดยขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่ดิน ปริมาณน้ำฝน และสภาพแวดล้อม เช่น ในกรณีภาคใต้ที่มีฝนตกชุก หรือพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำมาเติมสระได้ต่อเนื่อง ก็อาจลดขนาดของบ่อ หรือสระเก็บน้ำให้เล็กลง เพื่อเก็บพื้นที่ไว้ใช้ประโชน์อื่นต่อไปได้
                        ๕. การดำเนินการตามทฤษฎีใหม่ มีปัจจัยประกอบหลายประการ ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ สภาพแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่น ดังนั้น เกษตรกรควรขอรับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ด้วย และที่สำคัญ คือ ราคาการลงทุนค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขุดสระน้ำ เกษตรกรจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากส่วนราชการ มูลนิธิ และเอกชน
                        ๖. ในระหว่างการขุดสระน้ำ จะมีดินที่ถูกขุดขึ้นมาจำนวนมาก หน้าดินซึ่งเป็นดินดี ควรนำไปกองไว้ต่างหากเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชต่างๆ ในภายหลัง โดยนำมาเกลี่ยคลุมดินชั้นล่างที่เป็นดินไม่ดี หรืออาจนำมาถมทำขอบสระน้ำ หรือยกร่องสำหรับปลูกไม้ผลก็จะได้ประโยชน์อีกทางหนึ่ง
            ตัวอย่างพืชที่ควรปลูกและสัตว์ที่ควรเลี้ยง
ไม้ผลและผักยืนต้น : มะม่วง มะพร้าว มะขาม ขนุน ละมุด ส้ม กล้วย น้อยหน่า มะละกอ กะท้อน แคบ้าน มะรุม สะเดา ขี้เหล็ก กระถิน ฯลฯ
ผักล้มลุกและดอกไม้ : มันเทศ เผือก ถั่วฝักยาว มะเขือ มะลิ ดาวเรือง บานไม่รู้โรย กุหลาบ รัก และซ่อนกลิ่น เป็นต้น
เห็ด : เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เห็ดเป๋าฮื้อ เป็นต้น
สมุนไพรและเครื่องเทศ : หมาก พลู พริกไท บุก บัวบก มะเกลือ ชุมเห็ด หญ้าแฝก และพืชผักบางชนิด เช่น กะเพรา โหระพา สะระแหน่ แมงลัก และตะไคร้ เป็นต้น
ไม้ใช้สอยและเชื้อเพลิง : ไผ่ มะพร้าว ตาล กระถินณรงค์ มะขามเทศ สะแก ทองหลาง จามจุรี กระถิน สะเดา ขี้เหล็ก ประดู่ ชิงชัน และยางนา เป็นต้น
พืชไร่ : ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วพุ่ม ถั่วมะแฮะ อ้อย มันสำปะหลัง ละหุ่ง นุ่น เป็นต้น พืชไร่หลายชนิดอาจเก็บเกี่ยวเมื่อผลผลิตยังสดอยู่ และจำหน่ายเป็นพืชประเภทผักได้ และมีราคาดีกว่าเก็บเมื่อแก่ ได้แก่ ข้าวโพด ถัวเหลือง ถั่วลิสง ถั่วพุ่ม ถั่วมะแฮะ อ้อย และมันสำปะหลัง
พืชบำรุงดินและพืชคลุมดิน : ถั่วมะแฮะ ถั่วฮามาต้า โสนแอฟริกัน โสนพื้นเมือง ปอเทือง ถั่วพร้า ขี้เหล็ก กระถิน รวมทั้งถั่วเขียวและถั่วพุ่ม เป็นต้น และเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วไถกลบลงไปเพื่อบำรุงดินได้
หมายเหตุ : พืชหลายชนิดใช้ทำประโยชน์ได้มากกว่าหนึ่งชนิด และการเลือกปลูกพืชควรเน้นพืชยืนต้นด้วย เพราะการดูแลรักษาในระยะหลังจะลดน้อยลง มีผลผลิตทยอยออกตลอดปี ควรเลือกพืชยืนต้นชนิดต่างๆ กัน ให้ความร่มเย็นและชุ่มชื้นกับที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม และควรเลือกต้นไม้ให้สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ เช่น ไม่ควรปลูกยูคาลิปตัสบริเวณขอบสระ ควรเป็นไม้ผลแทน เป็นต้น

สัตว์เลี้ยงอื่นๆ ได้แก่
                        สัตว์น้ำ : ปลาไน ปลานิล ปลาตะเพียนขาว ปลาดุก เพื่อเป็นอาหารเสริมประเภทโปรตีน และยังสามารถนำไปจำหน่ายเป็นรายได้เสริมได้อีกด้วย ในบางพื้นที่สามารถเลี้ยงกบได้
                        สุกร หรือ ไก่ เลี้ยงบนขอบสระน้ำ ทั้งนี้ มูลสุกรและไก่สามารถนำมาเป็นอาหารปลา บางแห่งอาจเลี้ยงเป็ดได้
            ประโยชน์ของทฤษฎีใหม่
๑. ให้ประชาชนพออยู่พอกินสมควรแก่อัตภาพในระดับที่ประหยัด ไม่อดอยาก และเลี้ยงตนเองได้ตามหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง”
๒. ในหน้าแล้งมีน้ำน้อย ก็สามารถเอาน้ำที่เก็บไว้ในสระมาปลูกพืชผักต่างๆ ที่ใช้น้ำน้อยได้ โดยไม่ต้องเบียดเบียนชลประทาน
๓. ในปีที่ฝนตกตามฤดูกาลโดยมีน้ำดีตลอดปี ทฤษฎีใหม่นี้สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้โดยไม่เดือดร้อนในเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ
๔. ในกรณีที่เกิดอุทกภัย เกษตรกรสามารถที่จะฟื้นตัวและช่วยตัวเองได้ในระดับหนึ่ง โดยทางราชการไม่ต้องช่วยเหลือมากนัก ซึ่งเป็นการประหยัดงบประมาณด้วย
ย้อนกลับด้านบน

            ทฤษฎีใหม่ที่สมบูรณ์                  

ทฤษฎีใหม่ที่ดำเนินการโดยอาศัยแหล่งน้ำธรรมชาติ น้ำฝน จะอยู่ในลักษณะ “หมิ่นเหม่” เพราะหากปีใดฝนน้อย น้ำอาจจะไม่เพียงพอ ฉะนั้น การที่จะทำให้ทฤษฎีใหม่สมบูรณ์ได้นั้น จำเป็นต้องมีสระเก็บกักน้ำที่มีประสิทธิภาพและเต็มความสามารถ โดยการมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถเพิ่มเติมน้ำในสระเก็บกักน้ำให้เต็มอยู่เสมอ ดังเช่น กรณีของการทดลองที่โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสระบุรี
ระบบทฤษฎีใหม่ที่สมบูรณ์
อ่างใหญ่ เติมอ่างเล็ก อ่างเล็ก เติมสระน้ำ
                     
                        จากภาพ วงกลมเล็ก คือสระน้ำที่เกษตรกรขุดขึ้นตามทฤษฎีใหม่ เมื่อเกิดช่วงขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง เกษตรกรสามารถสูบน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ และหากน้ำในสระน้ำไม่เพียงพอก็ขอรับน้ำจากอ่างห้วยหินขาว (อ่างเล็ก) ซึ่งได้ทำระบบส่งน้ำเชื่อมต่อทางท่อลงมายังสระน้ำที่ได้ขุดไว้ในแต่ละแปลง ซึ่งจะช่วยให้สามารถมีน้ำใช้ตลอดปี
กรณีที่เกษตรกรใช้น้ำกันมาก อ่างห้วยหินขาว (อ่างเล็ก) ก็อาจมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ก็สามารถใช้วิธีการผันน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (อ่างใหญ่) ต่อลงมายังอ่างเก็บน้ำห้วยหินขาว (อ่างเล็ก) ก็จะช่วยให้มีปริมาณน้ำมาเติมในสระของเกษตรกรพอตลอดทั้งปีโดยไม่ต้องเสี่ยง
ระบบการจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สามารถทำให้การใช้น้ำมีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด จากระบบส่งท่อเปิดผ่านไปตามแปลงไร่นาต่างๆ ถึง ๓-๕ เท่า เพราะยามหน้าฝน นอกจากจะมีน้ำในอ่างเก็บน้ำแล้ว ยังมีน้ำในสระของราษฎรเก็บไว้พร้อมกันด้วย ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มอย่างมหาศาล น้ำในอ่างที่ต่อมาสู่สระจะทำหน้าที่เป็นแหล่งน้ำสำรอง คอยเติมเท่านั้นเอง
ย้อนกลับด้านบน

แปลงสาธิตทฤษฎีใหม่ของมูลนิธิชัยพัฒนา

ท่านที่สนใจสามารถขอคำปรึกษาและเยี่ยมชมแปลงสาธิตทฤษฎีใหม่ได้ ดังนี้
๑. สำนักบริหารโครงการ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา
โทรศัพท์ ๐ ๒๒๘๒ ๔๔๒๕  โทรสาร ๐ ๒๒๘๒ ๓๓๔๑
๒. โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสระบุรี
โทรศัพท์ / โทรสาร ๐ ๓๖๔๙ ๙๑๘๑
๓. โครงการแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวพระราชดำริ (ทฤษฎีใหม่) อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี
โทรศัพท์ / โทรสาร ๐ ๓๒๓๓ ๗๔๐๗
๔. โครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
โทรศัพท์ / โทรสาร ๐ ๓๒๕๙ ๔๐๖๗
๕. โครงการสาธิตทฤษฎีใหม่ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์
โทรศัพท์ / โทรสาร ๐ ๔๓๘๕ ๙๐๘๙
๖.โครงการสาธิตทฤษฎีใหม่ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา
โทรศัพท์ / โทรสาร ๐ ๔๔๓๒ ๕๐๔๘

การปลูกมนวนอกฤดูในบ่อซีเมนต์ 2

การปลูกมะนาวพันธุ์พิจิตร 1 ในบ่อซีเมนต์ สามารถบังคับให้ออกผลผลิตได้ในช่วงที่ผลมะนาวขาดแคลนและมีราคาแพง


       ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมของทุกปี บรรดาแม่บ้านจะประสบกับความเดือดร้อนราคาผลมะนาวขาดตลาด และมีราคาแพง แต่ปัจจุบัน “สมนึก สะอาดใส” ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 อ.เมือง จ.สงขลา มีเทคนิคง่ายๆ ในการปลูกมะนาวพันธุ์ “พิจิตร 1″ ในบ่อซีเมนต์ สามารถบังคับให้ออกผลผลิตได้ในช่วงที่ผลมะนาวขาดแคลนและมีราคาแพงได้แล้ว
สมนึก บอกว่า ทุกปีในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมของทุกปี ประชาชนจะประสบความเดือดร้อนเกี่ยวกับมะนาวราคาแพงและหายาก คุณภาพไม่ดี เพราะช่วงหน้าแล้งมะนาวจะออกผลผลิตน้อยมาก เขาจึงหาวิธีในการปลูกมะนาวในท่อซีเมนต์ เพื่อบังคับให้ออกผลผลิตนอกฤดูกาล โดยใช้ท่อซีเมนต์ขนาดกว้าง 80 ซม. สูง 50 ซม. ด้านล่างสุดใช้ฝาปิดท่อรอง เพื่อไม่ให้รากมะนาวทะลุได้ แต่ไม่โบกปูน เพราะต้องให้น้ำไหลซึมออกได้ โดยเลือกมะนาวพันธุ์ “พิจิตร 1″ มีคุณสมบัติพิเศษคือ ผลผลิตโต ให้น้ำมะนาวมาก ออกผลผลิตเร็ว ผลดก และทนสภาพดินฟ้าอากาศ รวมถึงต่อโรคด้วย
การปลูกมะนาวนั้น สมนึกบอกว่า ใช้หน้าดินร่วนซุยปนทราย 3 ส่วนผสมกับปุ๋ยคอก 1 ส่วน เทลงในท่อซีเมนต์ที่เตรียมไว้ให้ดินพูนปากท่อเล็กน้อย เผื่อไว้เวลารดน้ำสภาพดินจะยุบเสมอปากท่อพอดี จากนั้นขุดหลุมพอประมาณ นำต้นกล้ามะนาวพันธุ์พิจิตร 1 ที่มาจากการตอนกิ่งลงปลูก รดน้ำวันละ 1 ครั้ง หากใช้ระบบสปิงเกลอร์เปิดน้ำ 5-10 นาที หากปลูกแบบชาวบ้านให้รดน้ำให้พอดินชื้น
หลังจากปลูกแล้วต้องให้ปุ๋ยทุก 1 เดือนโดยใส่ปุ๋ยคอกราว 1 กะลามะพร้าวผสมปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 15-15-15 จำนวน 1 ช้อนโต๊ะ กระทั่งมะนาวมีอายุราว 8-12 เดือน จะเริ่มให้ผลผลิตปีแรกที่ทดลองในศูนย์ฯ ได้ต้นละ 420 ผลต่อปี หรือประมาณ 25-30 กก. และจะให้ผลผลิตดกตอนอายุ 3 ปีขึ้นไป โดยทั่วไปมะนาวจะออกผลผลิตตลอดปี แต่จะให้ผลผลิตมากที่สุดช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน
สำหรับการบังคับให้มะนาวที่ปลูกในท่อซีเมนต์ออกผลผลิตนอกฤดูกาล คือช่วงที่มะนาวขาดแคลนและมีราคาแพงราวเดือนมีนาคม-พฤษภาคมนั้น สมนึก บอกว่าไม่มีเคล็ดลับอะไรมากมาย เพียงแต่ช่วงที่มะนาวเริ่มออกดอกมากราวเดือนมีนาคม-เมษายนนั้น ให้งดการรดน้ำประมาณ 10-15 วัน จนใบมะนาวจะเริ่มเฉา จากนั้นจึงรดน้ำ พอต้นมะนาวเริ่มฟื้น จัดการตัดแต่งกิ่ง รดน้ำปกติ ให้ปุ๋ยสูตรเดิม แต่ให้เพิ่มปุ๋ยทางใบบ้าง เป็นปุ๋ยเกล็ดสูตรเสมอ 15-15-15 เช่นกัน
กระทั่งราวเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน มะนาวจะเริ่มออกดอก และสามารถเก็บผลิตผลหลังจากออกดอกแล้วราว 5 เดือนคือราวเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เป็นช่วงที่ผลผลิตมะนาวในท้องตลาดมีน้อย และราคาแพงถึงผลละ 5-8 บาท
“ที่เราต้องปลูกในท่อสะดวกต่อการบังคับให้ออกนอกฤดูกาล แต่ถ้าเราปลูกลงดินรากจะชอนไชไปถึงแหล่งน้ำ เมื่อต้นมะนาวได้น้ำใต้ดินก็ลำบากต่อการบังคับไม่ให้ดอกตามปกติ เราจึงใช้วิธีการปลูกในท่อซีเมนต์ หากปลูกกินเองปลูก 2-3 ต้นก็พอแล้วครับคือปล่อยให้ออกผลตามปกติ 1-2 ต้น บังคับให้ออกผลตอนที่มะนาวแพง 1 ต้น ผมเชื่อว่าการปลูกมะนาวในท่อซีเมนต์สามารถเก็บผลิตได้กว่า 10 ปีครับ” สมนึกกล่าว
นับเป็นวิธีง่ายๆ ที่สามารถจะแก้ปัญหามะนาวราคาแพงในอนาคตได้
ดลมนัส กาเจ
komchadluk

การปลูกมะนาว

2 comments May 7th, 2009
มะนาว
มานิด อินทรไทยสงค์ เซียนมะนาวเงินล้าน จังหวัดกำแพงเพชร

        มะนาวฤดูแล้งพันธุ์แป้นรำไพและพันธุ์แป้นดกพิเศษที่ขายจากสวนเกษตรกรเมื่อปลาย เดือนมีนาคม 2552 ที่ผ่านมา มีราคาสูงถึงผลละ 5 บาท (ขนาดจัมโบ้) เมื่อขายถึงผู้บริโภคน่าจะไม่ต่ำกว่าผลละ 8-10 บาท นับเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่สวนทางกับเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงทั้งในและต่าง ประเทศขณะนี้ ความเป็นจริงแล้ว ราคาซื้อ-ขาย มะนาว จะเป็นวงจรเช่นนี้มานานแล้วคือ มีราคาแพงสุดในช่วงฤดูแล้ง คือตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมาและจะมีราคาสูงสุดในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ของทุกปี แต่ราคาในปี พ.ศ. 2552 มีราคาแพงเป็นพิเศษคือ แพงที่สุดในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาเลยทีเดียว ด้วยเหตุที่ราคามะนาวฤดูแล้งมีราคาแพงเช่นนี้ได้สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกร สนใจที่จะปลูกมะนาวกันมากยิ่งขึ้น แต่อย่าลืมว่าจะทำสวนมะนาวให้ได้กำไรสูงสุด จะต้องมีความรู้และเทคนิคในการผลิตมะนาวนอกฤดูเป็นอย่างดี คุณมานิด อินทรไทยสงค์ เลขที่ 121 หมู่ที่ 13 ตำบลนิคมสร้างตนเองโพธิ์ทะเล อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร หรือในกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะนาว จังหวัดกำแพงเพชร ยกให้เป็นมือหนึ่งเรื่องของการทำมะนาวนอกฤดู สามารถทำกำไรจากการขายผลผลิตมะนาวนอกฤดูได้ทุกปี

หลักการสำคัญในการปลูกมะนาวเชิงพาณิชย์

      คุณ มานิด บอกว่า พื้นที่ปลูกมะนาวในเขตนิคมสร้างตนเองโพธิ์ทะเล อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร จะเป็นที่ดอน จะต้องมีการปรับที่ไถพรวนให้ดินร่วนซุยและยกร่องปลูกแบบร่องลูกฟูก หาสายพันธุ์ดีจากต้นแม่พันธุ์มาปลูก คุณมานิดจะเน้นปลูกมะนาวในกลุ่มของพันธุ์แป้น เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ออกดอกติดผลตลอดทั้งปี ผลมีขนาดกลาง ทรงผลแป้น เปลือกบาง และน้ำมีกลิ่นหอม ที่สำคัญเป็นพันธุ์ที่ต้องการของตลาด ในการคัดเลือกพันธุ์มะนาวดีมาปลูกนั้น จะต้องดูลักษณะของต้นแม่พันธุ์ที่เราต้องการจะขยายพันธุ์นั้น ควรเป็นต้นสาวที่มีอายุต้นประมาณ 1 ปี และไม่เคยผ่านการราดหรือฉีดสารแพคโคลบิวทราโซลมาก่อน เพราะจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของกิ่งพันธุ์หลังจากที่ปลูกลงแปลงไปแล้ว สังเกตดูพบว่ากิ่งพันธุ์ที่ผ่านการราดสารจะเจริญเติบโตไม่ดี ประการต่อมาต้นแม่พันธุ์มะนาวจะต้องมีลักษณะของการติดผลดี ติดผลดกเป็นพวง พวงละประมาณ 7-10 ผล เช่น พันธุ์แป้นดกพิเศษ จะถือว่าดีมาก ลักษณะของใบใหญ่เป็นมัน นี่เป็นภาพรวมของการคัดเลือกต้นแม่พันธุ์ที่ชาวสวนจะคัดเลือกจากสวนของตัว เองหรือมองหาจากสวนอื่นมาปลูก

การขยายพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมกันมากที่สุดคือ การตอนกิ่ง

        คุณ มานิด บอกว่า การตอนกิ่งมะนาวจะใช้เวลาไม่นาน นิยมทำกันช่วงต้นฤดูฝน เมื่อกิ่งตอนมีรากแล้วก็ควรจะเอามาชำไว้ในถุงดำที่มีวัสดุปลูกเป็นขี้เถ้า แกลบดำ การชำควรจะชำราว 10 วัน ก็เพียงพอแล้ว (ซึ่งระยะดังกล่าวรากของกิ่งตอนจะแผ่พอดีเต็มถุงดำ) ข้อแนะนำในการชำกิ่งพันธุ์มะนาว ไม่จำเป็นต้องชำใต้ตาข่ายพรางแสงเลย ให้ชำไว้ในบริเวณกลางแจ้งได้เลย ให้ต้นมะนาวชินต่อสภาพ แต่ถ้าเราเอากิ่งชำที่ชำไว้ใต้ตาข่ายพรางแสงไปปลูกในแปลง เรามักพบว่ากิ่งพันธุ์จะมีเปอร์เซ็นต์ของการตายค่อนข้างสูง และเวลาเอาไปปลูกให้แกะถุงดำออก ให้เอาส่วนของรากกิ่งพันธุ์มะนาวจุ่มน้ำให้ขี้เถ้าแกลบดำหลุดออกจนเหลือ เพียงรากมะนาวเท่านั้น (คุณมานิด ให้เหตุผลว่า ถ้าเราไม่ล้างเอาแกลบดำออก เวลาที่เราปลูกลงหลุมในแปลงเมื่อรดน้ำ ขี้เถ้าแกลบดำมันมักจะอุ้มน้ำไว้มาก ต้นมะนาวจะมีอาการใบเหลืองหรือไม่ก็จะเป็นโรคเชื้อรา เช่น รากเน่า โคนเน่า และตายในเวลาต่อมา)
ขั้นตอนของการล้างรากเอาขี้เถ้าแกลบดำออก เกษตรกรจะต้องตักน้ำใส่ถังพลาสติคหิ้วไปด้วย เพื่อสะดวกในการล้างราก ส่วนการปลูกไม่ต้องปลูกให้ลึกเกินไป ขุดหลุมให้ลึกประมาณ 10 เซนติเมตร ก็เพียงพอแล้ว แผ่รากมะนาวให้ทั่วหลุม จากนั้นกลบดินให้แน่น ปักไม้ไผ่ไว้ค้ำต้นไม่ให้ลมโยก ก็หาเศษหญ้าหรือเศษฟางมาคลุมบริเวณโคนต้นแล้วรดน้ำให้ชุ่มเป็นอันเสร็จ ในกรณีที่เกษตรกรจะนำกิ่งตอนที่ตัดมาจากต้นแล้วลงปลูกในแปลงเลยก็สามารถทำ ได้ แต่เราพบว่ากิ่งพันธุ์จะมีการตั้งตัวและเติบโตช้ากว่าวิธีที่เราแนะนำไป
อีก เคล็ดลับหนึ่งของคุณมานิดคือ การให้ปุ๋ยทางดินกับต้นมะนาวเล็ก จะให้ 20 วัน ต่อครั้ง ปุ๋ยที่ให้จะใช้ปุ๋ยยูเรีย (สูตร 46-0-0) ผสมน้ำรดให้ อัตราที่ใช้คือ ปุ๋ยยูเรีย 1 กิโลกรัม ผสมกับน้ำ 10 ลิตร ประมาณการให้ปุ๋ยยูเรียที่ละลายน้ำแล้วต่อต้น ประมาณ 1 แก้วน้ำ ต่อต้น แต่ก่อนที่จะให้ปุ๋ยแก่ต้นมะนาว ดินควรมีความชื้นเพื่อที่จะทำให้ต้นมะนาวสามารถดูดใช้ปุ๋ยได้ดีขึ้น แต่การราดปุ๋ยระวังอย่ารดปุ๋ยให้ชิดโคนต้นมะนาว ให้ห่างออกมาอย่างน้อย 1 คืบ คือการใส่ปุ๋ยยูเรียบำรุงต้นมะนาวเล็ก เปรียบเทียบกับการใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ พบว่าการใช้ปุ๋ยยูเรียต้นจะโตเร็วกว่าอย่างเห็นได้ชัด ต้นที่ให้ปุ๋ยยูเรียอายุ 1 ปี จะสูงถึง 1.50-1.70 เมตรเลยทีเดียว แต่เราจะมาหยุดให้ปุ๋ยยูเรียก็ต่อเมื่อช่วงที่จะเตรียมออกดอกเท่านั้น ต้นมะนาวเล็กมักมีกิ่งกระโดงให้เด็ดปลายยอดทิ้ง ไม่นานกิ่งกระโดงที่ถูกเด็ดยอดอ่อนทิ้งมันจะแตกพุ่มอ่อนออกมาอีกจำนวนมาก พุ่มมะนาวเล็กของเราก็จะขยายใหญ่ขึ้นอีก การดูแลรักษาต้นมะนาวเล็ก คุณมานิดจะเน้นบำรุงดูแลรักษาใบอย่างเดียว ปลูกช่วงมะนาวเล็ก อยากให้ทรงพุ่มสวยก็ต้องใส่ปุ๋ยเป็น อย่างต้นมะนาวปลูกแล้วเอนไปทางซ้ายก็ต้องใส่ปุ๋ยข้างขวามากหน่อย ต้นมันจะตั้งตรงขึ้นมา ส่วนต้นพุ่มสวยปกติก็ใส่บริเวณทรงพุ่มมะนาว โคนต้นควรสูงราว 1 ศอก ให้โล่งหน่อย ถ้าดูแลรักษาดีต้นมะนาวอายุ 1 ปี ก็จะได้พุ่มเกือบ 2 เมตร เลย

ระยะปลูกที่เหมาะสม ของมะนาวพันธุ์ “แป้นดกพิเศษ

        คุณ มานิด แนะนำใช้ระยะปลูก 6×6 เมตร เกษตรกรบางรายคิดว่ามันห่างกันเกินไป แต่มะนาวจัดเป็นไม้ผลที่เจริญเติบโตเร็วเพียงอายุต้นได้ 3 ปี ทรงพุ่มก็เกือบจะชนกันแล้ว ถ้าเราปลูกถี่ไปหรือชิดกันเกินไป พอกิ่งมันชนกันตรงส่วนที่ประสานกันนั้นมันมักจะติดผลไม่ค่อยดก การดูแลมะนาวเล็กสูตรคุณมานิด สิ่งสำคัญมากคืออย่าให้ขาดน้ำ โดยเฉพาะหลังจากที่ย้ายต้นปลูก แต่ปกติเกษตรกรมักจะปลูกกันในช่วงฤดูฝนหรือปลายฤดูฝน ทำให้เรื่องน้ำไม่เป็นปัญหาเท่าไรนัก การฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดโรค-แมลง การดูแลฉีดพ่นทุก 5-7 วัน ต่อครั้ง แมลงศัตรูที่สำคัญในมะนาวเล็กคือ หนอนชอนใบ เพลี้ยไฟ ฯลฯ

ปลูกมะนาวจะต้องตัดแต่งกิ่ง

        คุณ มานิด บอกถึงข้อเสียของเกษตรกรที่ไม่ตัดแต่งกิ่งต้นมะนาว ได้แก่ เกิดความยุ่งยากในการเข้าไปปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะใส่ปุ๋ย รดน้ำ หรือเก็บผลผลิต เพราะหากมะนาวมีทรงพุ่มทึบ ผู้เข้าไปปฏิบัติงานจะโดนหนามมะนาวทิ่มแทง ทำให้บาดเจ็บได้ เมื่อทรงพุ่มทึบแสงแดดส่องได้ไม่ทั่วถึง การติดผลจะลดลง หรือไม่ติดเลย เป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลง ทำให้ต้นมะนาวอายุสั้น เพราะไม่มีการกระตุ้นให้เกิดกิ่งใหม่ๆ กิ่งเก่าจะแห้งและตายในที่สุด สำหรับข้อดีของการตัดแต่งกิ่งคือ เข้าไปปฏิบัติงานได้สะดวก ไม่ต้องคอยเจ็บตัวกับหนามอันแหลมคมของต้นมะนาว ทรงพุ่มโปร่ง แสงแดดส่องทั่วถึง ทำให้การติดผลดกและกระจายโดยรอบ ลดการสะสมของโรคและแมลง การที่ทรงพุ่มโปร่งแสงแดดจะส่องเข้าได้ทั่วทั้งต้น โรคและแมลงบางชนิดจะลดลง และต้นมะนาวมีอายุยืน เพราะมีกิ่งใหม่ๆ มาแทนกิ่งเก่าเสมอ จำไว้เสมอว่า “กิ่งใหม่ออกลูกดีกว่ากิ่งเก่า”

เทคนิคการผลิตมะนาวฤดูแล้ง สูตร คุณมานิด อินทรไทยสงค์

       ใน ช่วงเดือนสิงหาคม-เดือนกันยายน คุณมานิดจะสะสมอาหารและสะสมตาดอกด้วยการใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 8-24-24 ทางดิน และทางใบจะฉีดสะสมอาหารด้วยปุ๋ยเกล็ด สูตร 0-52-34 ร่วมกับสารโปรดั๊กทีฟเป็นหลัก จะฉีดพ่นช่วงเดือนสิงหาคม-เดือนกันยายน จนใบมะนาวจะเริ่มแก่จัด หรือ “แก่ก้าน” ใบมีลักษณะสีเขียวเข้ม จับใบดูจะกรอบ แสดงว่าต้นมะนาวมีความพร้อมที่จะเปิดตาดอก ช่วง 2 เดือนนี้ เกษตรกรต้องดูต้นมะนาวของเราอย่าให้แตกใบอ่อนออกมา เราต้องบังคับให้ไปแตกใบอ่อนพร้อมดอกหรือเปิดตาดอกในเดือนตุลาคมเท่านั้น ถ้ามีฝนชุกหรือต้นมะนาวดูงามเกินไป จะต้องเพิ่มอัตราปุ๋ย 0-52-34 เข้าไปอีก จากอัตรา 150 กรัม เป็น 200 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

การใช้สารแพคโคลบิวทราโซลหยุดการแตกใบอ่อน

        วัตถุ ประสงค์ของการใช้สารแพคโคลบิวทราโซลของคุณมานิดคือ การควบคุมไม่ให้มะนาวแตกใบอ่อน ช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม-เดือนกรกฎาคม จะเป็นช่วงที่เกษตรกรสร้างความสมบูรณ์ของต้นและเร่งการแตกใบอ่อนของต้นมะนาว ให้ออกอย่างน้อย 2-3 ชุด เมื่อใบอ่อนรุ่นสุดท้ายเป็นระยะเพสลาดหรือใบเริ่มแก่แล้ว ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมแนะนำให้ฉีดพ่นสารแพคโคลบิวทราโซลเพื่อควบคุมไม่ให้ เกิดการแตกใบอ่อนออกมาอีก คุณมานิดจะเลือกใช้สารแพคโคลบิวทราโซลที่ความเข้มข้น 15% (เช่น แพนเทียม 15%) อัตราที่แนะนำใช้ ประมาณ 100-150 กรัม ผสมกับน้ำ 20 ลิตร (1 ปี๊บ) และเติมสารจับใบเลทรอน ซีเอส-7 ฉีดพ่น ประมาณ 2-3 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน แต่ในกรณีที่ฝนตกชุกก็จะฉีดให้ถี่ขึ้นตามความเหมาะสม ช่วงต้นเดือนตุลาคมใบมะนาวจะมีความพร้อมใบเขียวเข้มจับดูจะกรอบ แสดงว่ามีความพร้อมจะ “เปิดตาดอก” โดยใช้สารโปรดั๊กทีฟและสารโพลี่เอไซม์เป็นหลัก ข้อควรระวังในการใช้สารเคมีและฮอร์โมนต่างๆ ในช่วงที่มะนาวออกดอกคือ หลีกเลี่ยงการใช้สารฆ่าแมลงที่มีส่วนของน้ำมันและยาร้อน เนื่องจากจะทำให้ดอกมะนาวแห้งและร่วง ช่วงที่มะนาวออกดอก ดอกเริ่มบานต้องระวังเรื่องของเชื้อราเป็นพิเศษ จะเป็นกลุ่มเชื้อราที่เข้าทำลายขั้วดอกและทำให้ดอกหลุดร่วง เชื้อราที่ใช้ดีที่สุดในปัจจุบันนี้คือ สารฟลิ้นท์-แอนทราโคลโกลด์ ระยะเลี้ยงผล การฉีดพ่นทางใบใช้สูตรในการขยายผลมะนาวให้โตขึ้น โดยใช้ฮอร์โมนกลุ่มจิบเบอเรลลิน (เช่น จิบทรี) อัตราที่ใช้ ประมาณ 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 1-2 ครั้ง ห่างกัน 10-15 วัน ต่อครั้ง ผสมไปพร้อมกับการฉีดสารปราบศัตรูพืช ปุ๋ยทางดินจะให้ปุ๋ย สูตร 19-19-19 หรือ 32-10-10 จากสูตรการทำมะนาวนอกฤดูของคุณมานิด อาจจะเป็นแนวทางให้แก่เกษตรกรมือใหม่หรือที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ อาจจะเอาไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมด้วยในสภาพของการปลูกสภาพดินปัจจัยสิ่ง แวดล้อมที่แตกต่างกันอาจจะเป็นตัวกำหนดในการประสบความสำเร็จของการทำมะนาว เช่นกัน
คุณมานิด ฝากไว้ว่า การทำมะนาวฤดูแล้ง เกษตรกรมักจะพลาดในเรื่องไม่กล้าลงทุน พอช่วงมะนาวราคาถูกก็จะห่างการดูแลและบำรุงรักษา มะนาวเป็นพืชที่ห่างปุ๋ย ห่างยา ไม่ได้ บำรุงไม่ถึงในช่วงสะสมอาหาร ต้นขาดความสมบูรณ์ โอกาสประสบความสำเร็จในการผลิตมะนาวฤดูแล้งก็จะน้อยตามไปด้วย
หนังสือ “เทคนิคการผลิตมะนาวฤดูแล้งในวงบ่อซีเมนต์” พิมพ์ 4 สี มีแจกฟรี พร้อมกับ “การผลิตมะนาวฤดูแล้งยุคใหม่” รวม 168 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์ 50 บาท (ระบุชื่อหนังสือ) ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398
ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ
วันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 21 ฉบับที่ 454
matichon

ปลูกมะนาวในบ่อซีเมนต์

No comments April 7th, 2009
การปลูกมะนาวในบ่อซีเมนต์
ปลูกมะนาวในบ่อซีเมนต์ ทางแก้ปัญหาผลผลิตขาดแคลนในช่วงฤดูแล้ง

         มะนาว พืชอาหารที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันของคนไทย เป็นทั้งอาหารและใช้ในเชิงอุตสาหกรรม ในช่วงฤดูแล้งมะนาวมีราคาแพง แต่ความต้องการของตลาดมีสูง ถ้าเกษตรกรสามารถปลูกมะนาวให้มีผลดกและออกลูกในฤดูแล้งได้จะเป็นการสร้างราย ได้อย่างงาม
จากความคิดดังกล่าวข้างต้น พันโทจรัญ หนูเนียม อายุ 69 ปี อดีตนายทหารกรมสรรพาวุธทหารบก สังกัดกองทัพบก เจ้าของสวนส้มผู้พัน ซึ่งอาศัยอยู่ ณ บ้านเลขที่ 63/6 หมู่ที่ 7 ตำบลท่าดี อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช หนุ่มใหญ่ผู้มีบุคลิกภาพ “พูดเสียงดัง ฟังชัดแบบคนใต้” เป็นคนหนึ่งที่มีใจรักงานด้านการเกษตร โดยใช้พื้นที่ 17 ไร่เศษ ทำเป็นสวนส้มเขียวหวาน สวนกระท้อน สวนมังคุด และปลูกแซมด้วยพืชไร่ พืชผัก หลังจากเกษียณจากราชการเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ได้ทุ่มเทแรงกาย แรงใจให้กับอาชีพทำการเกษตร (ทำสวน) โดยพยายามหาวิธีลดต้นทุนการผลิตลง เช่น การทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง ทำน้ำหมักชีวภาพ ทำสารขับไล่แมลง การศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมโดยการอ่านตำรา การศึกษาดูงาน การเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ที่ทางราชการหรือเอกชนจัด
พันโท จรัญ เล่าให้ฟังว่า เมื่อปลายปี 2549 ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกมะนาวพันธุ์พิจิตร 1 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ต้านทานโรค ให้ผลดก ผลโต น้ำเยอะ และให้ผลผลิตเร็วประมาณ 1 ปี บวกกับความคิดที่คิดจะปรับเปลี่ยนอาชีพการทำสวนมังคุด จึงได้เดินทางไปศึกษาดูงานและซื้อกิ่งพันธุ์มะนาวพิจิตร 1 ดังกล่าวมาจากจังหวัดพิจิตร จำนวน 500 กิ่ง มาปลูกแทนในพื้นที่สวนมังคุดเดิม โดยโค่นต้นมังคุดทิ้ง แล้วปรับพื้นที่ให้เสมอ ทำคูระบายน้ำ แล้วนำบ่อซีเมนต์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80-100 เซนติเมตร สูง 50 เซนติเมตร มาวางเรียงให้ได้ระยะห่าง 3×4 เมตร ที่ก้นบ่อใช้ฝาซีเมนต์ขนาดเดียวกันมาวางรองเพื่อป้องกันไม่ให้รากต้นมะนาว ชอนไชลงถึงพื้นดิน เมื่อเตรียมบ่อซีเมนต์เสร็จ จัดวางระบบน้ำ นำกิ่งพันธุ์ลงปลูก ขณะนี้ปลูกไปแล้วกว่า 500 ต้น โดยปลูกในบ่อซีเมนต์ 200 ต้น และปลูกลงดิน 300 ต้น
สำหรับขั้นตอนในการปลูก เริ่มจากการเตรียมดิน ควรเลือกหน้าดินที่มีอินทรียวัตถุเพียงพอ ผสมปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกในอัตราส่วน 2 : 1 การเลือกกิ่งพันธุ์ ควรเลือกกิ่งพันธุ์ที่มีการเจริญเติบโตเต็มที่ การปลูก ขุดหลุมเล็กกลางวงบ่อ ปลูกกิ่งพันธุ์มะนาวโดยแผ่รากไม่ให้ขดเป็นก้อน กลบดินที่โคนต้น ปักไม้ผูกกับต้นมะนาวเพื่อป้องกันการโยกของต้น ใช้เศษหญ้าคลุมหน้าดิน รดน้ำให้ชุ่ม การให้น้ำ สัปดาห์แรกรดน้ำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง ให้ดินชุ่ม ครั้งต่อไปรดน้ำวันเว้นวันและรดน้ำเมื่อดินแห้ง การให้ปุ๋ย เมื่อปลูกได้ประมาณ 2 เดือน ให้ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 ปริมาณ 1 ช้อนแกงครึ่ง ต่อต้น สลับกับปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 ปริมาณ 1 ช้อนแกงครึ่ง ต่อต้น โดยหว่านรอบโคนต้นแล้วรดน้ำตาม ควรใส่ปุ๋ยครั้งละน้อยๆ ทุก 20 วัน อาจให้ปุ๋ยทางใบและฮอร์โมน โดยผสมสารป้องกันโรค หลังเก็บลูกและตัดแต่งกิ่ง ให้เติมดินร่วนผสมปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกในอัตราส่วน 1 : 1 ในวงบ่อให้เต็มปากบ่อโดยการพูนดินเป็นรูปหลังเต่าและใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ อัตรา 1 ช้อนแกงครึ่ง ต่อต้น แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
การตัดแต่งกิ่งมะนาว หลังจากเก็บลูกให้ตัดแต่งกิ่งพุ กิ่งไขว้กัน กิ่งที่อยู่ชิดดินให้เหลือเฉพาะกิ่งหลัก ตัดแต่งกิ่งให้โปร่งเพื่อให้แสงแดดส่องได้ทั่วถึง การค้ำกิ่งมะนาวที่ปลูกในบ่อซีเมนต์มีรากอยู่ในพื้นที่จำกัด เมื่อติดลูกมากอาจทำให้ต้นล้มหรือกิ่งหักได้ จึงควรค้ำกิ่งแบบคอกสี่เหลี่ยมหรือใช้ไม้ง่าม การเก็บลูกมะนาวที่ปลูกในบ่อซีเมนต์ จะเริ่มติดลูกเมื่อปลูกได้ประมาณ 8 เดือน ควรเก็บลูกทิ้งบ้างเพื่อให้ต้นเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ ปีต่อมาจึงค่อยให้มีลูกมาก เมื่อลูกมะนาวแก่จัดไม่ควรทิ้งไว้นาน ควรเก็บลูกทันทีเพราะอาจทำให้ต้นทรุดได้ง่าย การบังคับให้มะนาวออกลูกนอกฤดู ให้ต้นมะนาวอดน้ำในเดือนกันยายน-ตุลาคม โดยใช้ผ้าพลาสติคคลุมรอบวงบ่อ งดการให้น้ำ 10-15 วัน เมื่อใบมะนาวเหี่ยวหรือร่วงบ้าง ให้เอาผ้าพลาสติคออกและให้น้ำตามปกติ พร้อมให้ปุ๋ยสูตร 12-24-12 หรือ 8-24-24 ต้นละ 1-2 ช้อนแกง หลังจากนั้น 10-15 วัน ต้นมะนาวจะออกดอก บำรุงต้นมะนาวตามปกติอีก 4-5 เดือน จะสามารถเก็บผลมะนาวได้
ผลผลิตจะมีแม่ค้ามารับซื้อ ราคาขาย ขายเป็นกิโลกรัม กิโลกรัมละ 30-40 บาท 1 กิโลกรัม จะได้ผลผลิตประมาณ 12-18 ลูก และในช่วงที่มะนาวมีราคาแพงอาจขายได้ถึงกิโลกรัมละ 50-60 บาท นอกจากนี้ ยังสามารถขายกิ่งพันธุ์ได้ในราคากิ่งละ 200 บาท
ตั้งแต่ อดีตจนถึงปัจจุบัน สวนส้มผู้พันจะเป็นแปลงเรียนรู้ทางการเกษตรของคนในชุมชนและพันโทจรัญจะเป็น ผู้ประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องที่จะเข้ามาจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียน รู้ ถ่ายทอดความรู้ ผู้สนใจสามารถไปเยี่ยมชมและซื้อกิ่งพันธุ์สำหรับนำไปปลูกได้ที่สวนส้มผู้พัน ตามที่อยู่ข้างต้น โทรศัพท์ (081) 968-1438, (081) 085-1374 ได้ทุกวัน
วันที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 21 ฉบับที่ 452
สุกัญญา พัวพันธ์ agritech71@doae.go.th
matichon

สายพันธุ์มะนาวในไทย

No comments March 23rd, 2009
มะนาวพันธุ์ แป้นดกพิเศษ
ปลูกมะนาวพันธุ์แป้นดกพิเศษ ให้ออกในช่วงฤดูแล้ง

       ปีนี้ (ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2552) เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ราคาผลผลิตมะนาวฤดูแล้งของเกษตรกรผู้ปลูกมะนาวเชิงพาณิชย์ขายมะนาวจากสวนได้ราคาสูงที่สุด มะนาวพันธุ์แป้นรำไพขนาดจัมโบ้ขายจากสวนได้ถึงผลละ 4 บาท เมื่อถึงผู้บริโภคจะสูงถึงผลละ 7-8 บาท เกษตรกรผู้ปลูกมะนาวและสามารถผลิตให้ออกฤดูแล้งได้รวยไปตาม ๆ กันท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย มะนาวราคาแพงเช่นนี้จะทำให้เกษตรกรหลายรายขยายพื้นที่ปลูกกันมากขึ้น แต่ก่อนตัดสินใจปลูกเกษตรกรจะต้องพิจารณาเรื่องสายพันธุ์และศึกษาเทคนิคในการบังคับมะนาวให้ออกนอกฤดูให้ถ่องแท้เสียก่อน
ก่อนอื่นจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องสายพันธุ์มะนาวที่ปลูกในประเทศขณะนี้จะ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ พันธุ์ทะวายและพันธุ์ธรรมดา พันธุ์ทะวายหมายถึงพันธุ์ที่มีการออกดอกง่ายออกเกือบตลอดทั้งปีและมีการทยอย ออกหลายรุ่นในฤดูเดียวกัน นอกจากนี้ยังสามารถ
กระตุ้นให้ออกนอกฤดูได้ง่าย สำหรับสายพันธุ์ทะวายส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์แป้น อาทิ พันธุ์แป้นรำไพ, แป้นจริยา, แป้นพวง ฯลฯ สำหรับพันธุ์ธรรมดาหรือพันธุ์ทั่วไป เช่น ตาฮิติ (ตาฮิติจัดเป็นมะนาวสายพันธุ์ต่างประเทศที่ไม่มีเมล็ดและค่อนข้างต้านทานต่อ โรคแคงเคอร์ แต่คนไทยไม่ค่อยนิยมบริโภคเพราะน้ำไม่หอม), มะนาวน้ำหอมและมะนาวไร้เมล็ด เป็นต้น มะนาวในกลุ่มนี้ผลจะมีขนาดใหญ่และกระตุ้นให้ออกดอกยากกว่า มะนาวพันธุ์แป้นรำไพและมีจำนวนผลน้อยกว่า
ในกลุ่มของมะนาวพันธุ์แป้นรำไพพบว่ามีเกษตรกรได้ทำการคัดเลือกพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงและมีลักษณะพิเศษออกไปคือ ผลใหญ่, เปลือกบาง ให้ผลผลิตดกมากและติดผลเป็นพวง ที่สำคัญมีปริมาณน้ำมาก, หอมและมีรสชาติ เหมือนกับมะนาวแป้นรำไพทุกประการ และได้มีการตั้งชื่อพันธุ์ว่า พันธุ์แป้นดกพิเศษ ปัจจุบันพันธุ์แป้นดกพิเศษ เริ่มมีเกษตรกรได้นำพันธุ์ไปขยายพื้นที่ปลูกกันมากขึ้นแต่ส่วนใหญ่เจ้าของจะ หวงพันธุ์ และถ้าจะให้ต้นมะนาวมีความสมบูรณ์และแข็งแรงควรจะใช้ต้นพันธุ์ที่ได้จากการ ต่อยอดหรือติดตาบนต้นตอส้มต่างประเทศ เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตดกมากและติดเป็นพวง อย่างไรก็ตามในการให้ปุ๋ยและน้ำอย่างสมบูรณ์มีความจำเป็นกับการผลิตมะนาว พันธุ์แป้นดกพิเศษ
ที่ผ่านมานอกจากจะคัดเลือกสายพันธุ์มะนาวที่มีความเหมาะสมต่อการปลูกแล้ว ในการผลิตมะนาวให้ออกฤดูแล้ง เกษตรกรส่วนใหญ่ มักจะมีความผิดพลาดในเรื่องของการลงทุน เมื่อถึงช่วงเวลาราคามะนาวถูกลงในช่วงฤดูฝน เกษตรกรมักจะไม่บำรุงรักษาเท่าที่ควร มะนาวยังจัดเป็นพืชที่มีความต้องการอาหารที่สมบูรณ์และมีโรคและแมลงรบกวนมาก ถ้าต้นมะนาวขาดความสมบูรณ์ การผลิตมะนาวให้ออกฤดูแล้งก็ล้มเหลวตามไปด้วย.

การปลูกมนวนอกฤดูในบ่อซีเมนต์

        สำหรับเกษตรกรที่คิดจะปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์จำนวน 100 บ่อ จะใช้เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่เท่านั้น ซึ่งจะใช้เงินลงทุนมากในช่วงเริ่มแรก ส่วนค่าใช้จ่ายหลักจะอยู่ที่วงบ่อซีเมนต์และฝารองซึ่งเมื่อรวมค่าใช้จ่ายกิ่งพันธุ์มะนาว, ระบบน้ำ ฯลฯ รวมเป็นเงินในการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์จำนวน 100 วงบ่อ เป็นเงิน 27,000 บาทโดยประมาณ ต้นมะนาวในวงบ่อเมื่อมีอายุต้นเพียง 8 เดือน จะบังคับให้ต้นออกฤดูแล้งได้โดยใช้หลักการเดียวกับการปลูกลงดินคือคลุมพลาสติกให้กับต้นมะนาวในช่วงเดือนกันยายนและกระตุ้นการออกดอกในเดือนตุลาคม จะได้ผลผลิตมะนาวแก่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่มะนาวราคาแพงที่สุด เท่ากับว่าในการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์จะใช้เวลาเพียงปีเดียวเท่านั้นสามารถเก็บผลผลิตได้ในช่วงฤดูแล้ง

การเริ่มต้นจัดผังปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์

       รายละเอียดของการเริ่มต้นการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ จะต้องวัดพื้นที่ กว้างxยาว ก่อน เพื่อจะหาพื้นที่ หลังจากนั้น เว้นทางเดินประมาณ 2 เมตร ระยะปลูกระหว่างต้น 1.20 เมตร ระยะระหว่างแถว 1.50 เมตร ปลูกแบบแถวคู่แล้วเว้นเป็นทางเดิน 2 เมตร สภาพพื้นที่ปลูกจะต้องปรับให้เรียบเหมือนกับลานตากข้าว วัดระยะการวางวงบ่อ การวางวงบ่อซีเมนต์พยายามวางให้เป็นเลขคู่เพื่อง่ายต่อการวางระบบน้ำและคำนวณแรงดันน้ำ แท็งก์จะแบ่งออกเป็น 2 ชุด ชุดแรกจะก่อให้สูง ประมาณ 5 วงบ่อ หรือมีความจุน้ำได้ 1,200 ลิตรจะใช้แท็งก์นี้เพื่อผสมปุ๋ยน้ำชีวภาพแล้วเปิดน้ำดีเข้าไปผสมปล่อยไปให้ต้นมะนาวในวงบ่อได้โดยตรง ส่วนแท็งก์อีกชุดหนึ่งจะก่อให้สูงประมาณ 9 วงบ่อ จำนวน 2 แท็งก์ เพื่อกักเก็บน้ำสะอาดแล้วช่วยในเรื่องของแรงดัน

การเตรียมดินปลูกมะนาวและขนาดของวงบ่อซีเมนต์

       ขนาดของวงบ่อซีเมนต์แนะนำให้เกษตรกรใช้ จะใช้ขนาดวงเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร แต่เดิมฝาวงบ่อคุณพิชัยใช้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร เท่ากับขนาดของวงบ่อ เมื่อปลูกไปนาน 2-3 ปี พบว่า รากของต้นมะนาวจะโผล่ออกมานอกวงและชอนลงไปในดิน ทำให้ควบคุมในเรื่องของการบังคับให้ออกนอกฤดูได้ยากมากขึ้น ปัจจุบัน จึงได้แนะนำเกษตรกรและแก้ไขให้ซื้อฝาวงบ่อที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของวงบ่อ ใช้ฝาวงบ่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 90 เซนติเมตร กว้างกว่า 10 เซนติเมตรดินผสมที่จะใช้ปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ จะใช้วัสดุปลูกหลัก 3 ชนิด คือ หน้าดิน 3 ส่วน ขี้วัวเก่า 1 ส่วน และเปลือกถั่วเขียว 2 ส่วน ผสมคลุกเคล้ากัน การใช้เปลือกถั่วเขียวจะช่วยให้สภาพดินมีการระบายน้ำที่ดี ถ้าใช้แค่หน้าดินผสมกับขี้วัวจะทำให้ดินปลูกแน่น เวลาให้น้ำไป 3-4 วัน น้ำยังไม่ถึงข้างล่างของวงบ่อ ยังได้ยกตัวอย่างปริมาณของดินที่จะใช้ในการปลูกมะนาว จำนวน 100 วงบ่อ จะต้องใช้หน้าดินประมาณ 1 คันรถสิบล้อ เทคนิคในการผสมวัสดุปลูกจะต้องปูพื้นด้วยหน้าดินเป็นขั้นแรก หลังจากนั้น ใส่ขี้วัวเก่าเป็นชั้นที่ 2 แล้วตามด้วยเปลือกถั่วเขียวเป็นชั้นบนสุด หลังจากนั้นใช้เครื่องตีพรวนติดรถไถจะเร็วกว่าใช้แรงงานคน

การใส่วัสดุปลูกลงบ่อซีเมนต์มีเทคนิค

       ที่ผ่านมาเกษตรกรที่ปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ส่วนใหญ่จะใส่วัสดุปลูกในวงบ่อซีเมนต์เพียงเสมอวงบ่อเท่านั้น เมื่อรดน้ำไปได้เพียงแค่สัปดาห์เดียว วัสดุปลูกจะยุบตัวลงมาประมาณ 1 คืบมือ ถ้าเกษตรกรเติมวัสดุปลูกลงไปจะไปกลบลำต้นมะนาว ปัญหาเรื่องโรคโคนเน่าจะตามมา ดังนั้น ในการใส่วัสดุปลูกลงในวงบ่อซีเมนต์จะต้องใส่ให้พูนเป็นภูเขาเลย และที่จะต้องเน้นเป็นพิเศษขณะที่ใส่วัสดุปลูกลงในวงบ่อนั้นคือ จะต้องขึ้นเหยียบวัสดุปลูกขอบๆ วงบ่อ บริเวณตรงกลางไม่ต้องเหยียบ การใส่วัสดุปลูกให้เป็นภูเขาจะช่วยในเรื่องดินยุบลงมาเสมอวงบ่อได้นานถึง 1 ปี

วิธีการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ที่ถูกต้อง

     หลังจากที่ใส่วัสดุปลูกลงในบ่อซีเมนต์เรียบร้อยแล้ว ให้เกษตรกรขุดเปิดปากหลุมให้มีขนาดเท่ากับขนาดของถุงที่ใช้ชำต้นมะนาว (โดยปกติถ้าใช้กิ่งตอนมะนาว ควรจะชำต้นมะนาวไว้นานประมาณ 1 เดือน เท่านั้น ไม่แนะนำให้ซื้อต้นมะนาวที่ชำมานานแล้วหลายเดือน หรือชำค้างปี เนื่องจากจะพบปัญหาเรื่องรากขด ทำให้เจริญเติบโตช้าหรือต้นแคระแกร็น) รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น สูตร 16-16-16 อัตราประมาณ 1 กำมือ ถอดถุงดำปลูกต้นมะนาวให้พอดีกับระดับดินเดิม กลบดินแล้วใช้เท้าเหยียบรอบๆ ต้น เพื่อไม่ให้โยกคลอน ปักไม้เป็นหลักกันลมโยกและแนะนำให้ใช้ตอกมัดต้นมะนาวไว้กับหลัก ตอกจะผุเปื่อยหลังจากปลูกไปนานประมาณ 2 เดือน ต้นมะนาวตั้งตัวได้แล้ว แต่ที่หลายคนได้ใช้ปอฟางหรือพลาสติคทาบกิ่งมัดกับหลักจะอยู่ได้นานก็จริง แต่ปัญหาที่จะตามมาจะทำให้ลำต้นมะนาวคอด มีผลต่อการเจริญเติบโตของต้น หลังจากปลูกเสร็จให้เดินท่อ PE เจาะหัวมินิสปริงเกลอร์และวางท่อ PE พาดไปกับวงบ่อเลยเพื่อสะดวกต่อการทำงาน

ปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ได้ตลอดทั้งปี

      ในการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ปลูกไปแล้วนับไปอีก 8 เดือน เกษตรกรสามารถบังคับให้ต้นออกดอกได้ ถ้าเกษตรกรจะบังคับให้มะนาวออกฤดูแล้งในรุ่นแรกแนะนำให้ปลูกต้นมะนาวในช่วงเดือนมกราคม ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ในปีเดียวกันบังคับต้นให้ออกดอกได้โดยใช้หลักการเหมือนกับที่ปลูกลงดิน ผลผลิตมะนาวฤดูแล้งจะไปแก่และเก็บผลผลิตขายได้ราคาแพงในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนของปีถัดไป เท่ากับว่าการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ใช้เวลาปลูกเพียงปีเศษเท่านั้น เกษตรกรสามารถเก็บมะนาวฤดูแล้งขายได้

วิธีการรดน้ำต้นมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ ทำอย่างไร

     ในการผลิตมะนาวฤดูแล้งในวงบ่อซีเมนต์ ให้ใช้พลาสติคคลุมปากบ่อซีเมนต์เพื่อป้องกันน้ำหรือฝนที่ตกลงมาในช่วงแรกๆ แต่พบปัญหาว่าเมื่อเกษตรกรนำพลาสติคไปคลุมกลับรักษาความชื้นให้กับต้นมะนาวใช้เวลานานวันกว่าดินจะแห้ง หรือเลือกใช้หลักการ "ฝนทิ้งช่วง" ในแต่ละปีช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ของทุกปี จะมีช่วงเวลาที่ฝนทิ้งช่วง ในการผลิตมะนาวฤดูแล้งในวงบ่อซีเมนต์ ถ้าฝนไม่ตกติดต่อกัน 3-4 วัน ดินในวงบ่อจะเริ่มแห้ง ใบมะนาวจะเริ่มเหี่ยว หลังจากนั้นฉีดกระตุ้นให้ต้นมะนาวออกดอกและติดผลได้

ผลิตมะนาวฤดูแล้งในวงบ่อซีเมนต์ 2 รุ่น ต่อปี

   ในช่วงเริ่มแรกของการบังคับมะนาวฤดูแล้งจะทำให้ต้นมะนาวออกดอกเพียงรุ่นเดียวคือ ช่วงเดือนตุลาคมและไปเก็บผลผลิตในช่วงเดือนเมษายนเท่านั้น ทำให้จะต้องคอยปลิดดอกมะนาวทิ้งตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเรื่อยมาจนถึงเดือนสิงหาคม-กันยายน แต่ช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมาสภาวะตลาดมะนาวผลผลิตจะเริ่มมีราคาดีตั้งแต่เดือนมกราคมเรื่อยไปจนถึงเดือนเมษายน จึงปล่อยให้มะนาวให้ผลผลิต 2 รุ่น คือมีผลผลิตขายในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์รุ่นหนึ่ง (บังคับให้ต้นออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม) และมีผลผลิตในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนอีกรุ่นหนึ่ง (บังคับให้ออกดอกในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม) พอเข้าสู่เดือนพฤษภาคมของทุกปีราคามะนาวจะถูกลง จะตัดแต่งกิ่งมะนาวในช่วงเวลานี้ พร้อมทั้งปลิดผลมะนาวที่ติดอยู่บนต้นทิ้งให้หมด

ตัดแต่งกิ่งมะนาวในวงบ่อซีเมนต์อย่างหนัก ทุกๆ 3 ปี

       ตัดแต่งกิ่งมะนาวตาฮิติในวงบ่อซีเมนต์อย่างหนัก ทุกๆ 3 ปี โดยจะเริ่มตัดแต่งกิ่งและปลิดผลทิ้งทั้งหมดภายในเดือนพฤษภาคม ในช่วงปีที่ 1-2 จะตัดแต่งบ้างแต่ไม่มากนัก จะมาตัดแต่งหนักเมื่อต้นมีอายุประมาณ 3 ปี ซึ่งในช่วงนั้นมักจะพบว่าต้นมะนาวเริ่มโทรม มีกิ่งแห้งเป็นจำนวนมาก การตัดแต่งกิ่งมีผลทำให้ต้นมะนาวแตกกิ่งออกมาใหม่และได้ผลผลิตมะนาวที่มีคุณภาพ หลังจากตัดแต่งกิ่งเสร็จในเดือนพฤษภาคม ช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เป็นช่วงบำรุงต้นและสะสมอาหารเพื่อจะกระตุ้นการออกดอกรุ่นแรกในเดือนสิงหาคม

เทคนิคการเปิดตาดอก

      เมื่อใบมะนาวเหี่ยวและเริ่มร่วงหรือเหลือใบยอดเพียง 1 คืบ จะเปิดตาดอกโดยใช้ปุ๋ยเคมีสูตรที่มีตัวกลางสูง เช่น สูตร 15-30-15 หรือ 12-24-12 อัตรา 1 กำมือ ใส่ให้กับต้นมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ รดน้ำจนเห็นว่าปุ๋ยละลายจนหมด (ช่วงการให้ปุ๋ยนี้ไม่แนะนำให้เปิดน้ำด้วยหัวสปริงเกลอร์ ควรจะให้น้ำด้วยสายยางจะดีกว่า) และยังได้แนะนำก่อนว่า ก่อนที่จะให้ปุ๋ยควรเปิดน้ำให้กับต้นมะนาวจนดินชุ่มเสียก่อน จะรดน้ำด้วยสายยาง 2-3 ครั้ง ทุกๆ 3-5 วันสำหรับการฉีดพ่นฮอร์โมนหรือธาตุอาหารทางใบควรฉีดพ่นอย่างเต็มที่ ฉีดพ่นด้วยฮอร์โมน โปรดั๊กทีฟ อัตรา 20 ซีซี ผสมกับสารเทรนเนอร์ อัตรา 10 ซีซี และปุ๋ยทางใบ สูตร 0-52-34 อัตรา 100 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ (20 ลิตร) ฉีดพ่นต่อเนื่องทุก 5-7 วัน หลังจากนั้นต้นมะนาวจะเริ่มออกดอกและติดผลไปแก่ในช่วงฤดูแล้ง

การทำมะนาวนอกฤดู

        การบังคับมะนาวนอกฤดูในวงบ่อซีเมนต์
1. แปลงนี้ปลูก มะนาวพันธุ์ตาฮิติ และพันธุ์แป้น อายุประมาณ 4 ปี ทั้งหมด 600 วงในเนื้อที่ 2 ไร่เศษ
2. การให้น้ำระบบมินิสปริงเกอร์ ให้น้ำเช้า - เย็น
3. มะนาวจะราคาแพงที่สุดคือช่วงเดือน มีนาคม – เมษายน ของทุกปี ดังนั้นเมื่อเก็บผลผลิตหมดในเดือน
พฤษภาคม ให้รีบดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
- ตัดแต่งกิ่ง เด็ดผลที่เหลือบนต้นออก เพื่อบำรุงต้น เร่งการสร้างยอดใหม่ ใบใหม่โดย ผลมะนาวที่คุณภาพดีที่สุดคือผลที่เกิดจากยอดใหม่ ผลที่เกิดจากกิ่งเก่าคุณภาพจะด้อยลงมา ผลที่คุณภาพต่ำสุดคือผลที่เกิดติดกิ่ง หลังตัดแต่งกิ่งเสร็จใช้ปุ๋ยเคมี 15 – 15 – 15 ใส่หนึ่งกำมือต่อวง คุณพิชัยให้เหตุผลว่าหากไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเลย ต้นจะไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าที่ควร และพบอาการผลเหลืองที่ไม่ได้เกิดจากอาการม้านแดดมากกว่าปกติ เนื่องจากการให้ผลผลิตในปีที่ผ่านมา
ต้นมะนาวใช้ธาตุอาหารในการเลี้ยงลูกในปริมาณที่มาก
- เพิ่มวัสดุปลูกในวงบ่อเนื่องจากในแต่ละปีวัสดุปลูกจะยุบลง เพิ่มกาบมะพร้าวบริเวณโคนต้น เนื่องจากาบ
มะพร้าวผุพังไปบ้างในปีที่ผ่านมา กาบมะพร้าวเป็นวัสดุที่ช่วยเก็บรักษาความชื้นได้อย่างดี และยังเป็นวัสดุที่ช่วยเก็บ
รักษาปุ๋ยที่จ่ายมาทางระบบน้ำก่อนจะค่อย ๆ ปลดปล่อยธาตุอาหารให้ต้นมะนาวใช้ ป้องกันการสูญเสียธาตุอาหารอัน
เกิดจากการไหลบ่า หรือการระเหย
- การให้ปุ๋ยชีวภาพซึ่งได้จากการหมักหอยเชอรี่30 กก. เศษผลไม้ 10 กก. กากน้ำตาล 10 กก. เชื้อพด.
2 จำนวน 25 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร สูตรนี้สามารถใช้ฉีดพ่นทางใบ ในอัตรา 20 - 25 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตรได้ ในส่วนของ
การให้ทางระบบน้ำนั้น เทคนิคคือใช้ปุ๋ยชีวภาพในอัตรา 5 ลิตร ต่อน้ำ 1,250 ลิตร ให้ทุก 5 - 7 วัน โดยใน
การให้จะให้ครั้งละ 3 – 5 นาทีเพื่อให้กาบมะพร้าวบริเวณโคนต้นชุ่มก็พอ หลังจากนั้นก็ให้น้ำตาม รอบปกติ น้ำจะ
ค่อย ๆ ละลายธาตุอาหารลงไปให้ต้นมะนาวใช้ เป็นการจัดการที่ประหยัดปุ๋ย ใช้ปุ๋ยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

- ในระยะนี้ต้องรักษาใบและยอดให้ดี เนื่องจากมีโรค แมลงที่สำคัญเข้าทำลายในระยะยอดอ่อนถึงเพสลาดคือ เพลี้ยไฟ และโรคแคงเกอร์ ในเรื่องสารเคมีคุณพิชัยให้แนวคิดว่าบางระยะยังต้องมีการใช้อยู่ แต่ต้องเลือกใช้ในระยะที่
ปลอดภัยต่อผู้บริโภค คือใช้ในระยะก่อนเก็บเกี่ยวไม่น้อยกว่า 2 เดือน เนื่องจากแปลงเรียนรู้นี้ปลูกทั้งพันธุ์ตาฮิติ และพันธุ์แป้นคละกันไป พันธุ์แป้นอ่อนแอต่อโรคแคงเกอร์มาก
- หลักการใช้สารเคมีในแปลงมะนาว นอกจากเพลี้ยไฟ โรคแคงเกอร์แล้วยังมีโรคและศัตรูอื่น ๆ อีก เช่น หนอนชอนใบ หนอนกัดกินใบ แมลงค่อม โรคยางไหล โรคราเข้าขั้ว การเลือกใช้ชนิดของ
สารเคมีและระยะที่ใช้จึงมีความจำเป็น หากอยู่ในระยะที่ใช้สารเคมีได้ เพลี้ยไฟ และหนอนชอนใบมีสารเคมีที่ คุณพิชัยเลือกใช้ในการป้องกันกำจัดคือ อะบาแม็กติน อัตรา 3 – 10 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ( ทั้งนี้อัตราการใช้แล้วแต่ความเข้มข้นของแต่ละบริษัทที่ผลิต ) หากพบการระบาดมากจะใช้สาร อิมิดาคลอพริด อัตรา 3 – 5 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร แมลงค่อมหรือด้วงปีกแข็งใช้สารคาร์โบซัลแฟน อัตรา 20 – 30 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไซเปอร์เมทริน อัตรา 5 – 10 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร โรคราเข้าขั้วใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อราแมนโคเซ็บ อัตรา 20 – 30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์เบ็นดาซิม อัตรา 10 – 20 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ความถี่ในการฉีดพ่น ทุก 7 - 15 วัน หรือแล้วแต่สภาพการระบาดของโรคแมลง นอกเหนือจาก
ระยะนี้แล้ว 2 เดือนก่อนเก็บเกี่ยว คุณพิชัยเลือกใช้น้ำหมักชีวภาพที่มีฤทธิ์ไล่ และกำจัดแมลง โดยใช้น้ำหมักที่หมักจาก
สมุนไพรที่ มีรสเผ็ด ขม เหม็น เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด บอระเพ็ด สะเดา ใช้สมุนไพรดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่ง
30 กก. กากน้ำตาล 10 กก. พด. 7 จำนวน 25 กรัม ต่อน้ำ 30 ลิตร หมัก 20 วัน นำมาฉีดพ่นในอัตรา 25 ซีซีต่อน้ำ 20
ลิตรทุก 7 - 15 วัน
- เนื่องจากมะนาว มีอายุ ประมาณ 5 เดือนสามารถเก็บขายได้ในเดือนที่ 6 การวางแผนการบังคับให้ออกนอกฤดู คือต้องทำให้ออกดอก เดือนตุลาคม เดือนกันยายนต้องงดปุ๋ย งดน้ำ จากประสบการณ์ของคุณพิชัยจะเลือกใช้จังหวะฝนทิ้งช่วงประมาณ 7 – 15 วัน เป็นการงดน้ำไปในตัว เนื่องจากมะนาวแปลงนี้ 600 วง คุณพิชัยจัดการเพียง
คนเดียวจึงไม่สะดวกที่จะเลือกใช้พลาสติกคลุม เพราะพลาสติกก่อให้เกิดไอน้ำเกาะบริเวณผิวด้านในพลาสติก ลดความชื้น
ในดินยาก หากจะให้ได้ผลดี ในวันที่แดดออกต้องแกะพลาสติกออกให้น้ำระเหย หากฝนตกต้องคลุมพลาสติก เป็นการจัดการที่ยากในกรณีที่ไม่มีแรงงานเพียงพอ
- งดน้ำจนใบเหี่ยว สลด และหลุดร่วงประมาณ 50 – 60 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นให้น้ำตามปกติ ปุ๋ยเคมีที่ใช้เพื่อเปิดตาดอกในระยะนี้คือ ปุ๋ยที่มีตัวกลางสูงเช่น 12 – 24 – 12 หรือ 15 – 30 -15 ปริมาณ 1 กำมือต่อวงรดน้ำให้ชุ่มเพื่อให้ปุ๋ยละลาย
- หลังติดดอกแล้วให้น้ำตามปกติเช้า – เย็น เวลาละ 5-10 นาที
- ปุ๋ยทางดินที่คุณพิชัยใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี ตลอดฤดูการผลิตคือปุ๋ยอินทรีย์ที่หมักจากเศษพืช มูลสัตว์ กากหอยเชอรี่ เป็นการลดต้นทุนการผลิต ลดภาวะดินเสื่อมโทรม ปรับสภาพดินให้สมบูรณ์ อย่างยั่งยืน