เทคนิคการลำเลียงขนย้ายลูกปลา
กลับมาเจออีกครั้งกับนักเขียนที่ชอบสรรหาเรื่องราวต่างๆมาพัฒนาต่อมสมองอย่างไรก็ตาม ถ้าอ่านกันแล้วโดนใจคิดว่ามีสาระ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ก็ไม่สงวนลิขสิทธิ์ หวังว่าปีฉลู 2552 คงไม่เครียดกับเช่นปีที่ผ่านมากันนะครับเปลี่ยนรัฐบาลใหม่แล้วบ้านเมืองคาดว่าน่าจะสงบสุขลงมาบ้างอะไรที่ปล่อยวางได้ก็ปล่อยๆกันไปบ้างนะครับพี่น้องสังคมก็จะเกิดผลดีตามมา เอาละครับ ช่วงของดีมีประโยชน์ในวันนี้ผมจะพาทุกท่านมาพบกับแวดวงสัตว์น้ำ ซึ่งนับว่าสำคัญไม่แพ้กันนั่นก็คือ ขั้นตอนการลำเลียงขนย้ายลูกปลาซึ่งผมได้มีประสบการณ์ไปลำเลียงด้วยตัวเองบ้างหรือพร้อมทีมงานบ้าง ทุกครั้งที่ลำเลียงมานั้นก็ได้ลุ้นกัน แทบทุกช็อตไม่ว่าระยะทางใกล้หรือใกลเริ่มตั้งแต่ จ.ตราด, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, ภูเก็ต, พังงา และ จ.กระบี่ เป็นต้น
ความประทับใจหลายๆแห่งที่ไปลำเลียงลูกปลามา ผู้หลักผู้ใหญ่ต่างต้อนรับกันด้วยดีตลอดโดยเฉพาะที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งจ.กระบี่ ซึ่งเผอิญได้ไปลำเลียงลูกปลาค่อนข้างบ่อยที่สุดก็ต้องขอขอบพระคุณท่านผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง จ.กระบี่ ที่ท่านมีความเป็นกันเองคอยบริการและอำนวยความสะดวกรวมถึงเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องทางผมและคณะไม่มีอะไรตอบแทนนอกจากนำกิจกรรมที่ ศพช.กระบี่มาบอกเล่า ให้คนทั่วไปได้ทราบว่า เขามีอะไรดีๆที่น่าดูน่าชมกันบ้าง ที่ได้ยกตัวอย่างศพช.กระบี่ เพราะว่าที่นี่เขาเปิดบริการให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมกันฟรีๆ เข้าทางใช่ไหมล่ะ ขึ้นชื่อว่าของฟรีเริ่มดีแฮ๊ะ แต่เดี๋ยวก่อนอย่านึกว่าของฟรีไม่มีค่าอะไร คอนเฟิร์มของเค้าดีแถมมีคุณภาพ ไม่ว่าลูกพันธุ์ปลาการ์ตูนที่คอยเป็นพระเอกชูโรงเรียกให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยทั้งเทศฝรั่งมังค่าทั่วทุกสารทิศมาเที่ยวชม นอกจากนี้ยังมีปลาอีกมากมายหลายชนิด เช่น ปลากะรังจุดฟ้า, ปลากะรังหน้างอน, ปลาช่อนทะเล และปลาหมอทะเล หากใครสนใจจะนำไปเพาะเลี้ยงเขาก็มีบริการจำหน่ายด้วยนะครับ ที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ใช่ว่าศพช.กระบี่เขาศพช.กระบี่จ้างวานผมให้มาเขียน เปล่าเลยไม่มีค่าตอบแทนใดๆทั้งสิ้น เพราะผมถือว่าหากเป็นสิ่งที่ดี และน่าสนใจมาบอกเล่าใครผ่านไปผ่านมาลองแวะไปเยี่ยมชมรับรองว่าท่านจะไม่ผิดหวัง
ก่อนการขนย้ายลูกปลาเราควรต้องเตรียมตัวอย่างไร
ต้องไม่ลืมว่าก่อนลงมือทำงานอะไรทุกครั้งหากคุณเตรียมตัวมาดีก็คว้าชัยไปกว่าครึ่งแล้ว เช่นเดียวกันการลำเลียงขนย้ายลูกปลาอุปกรณ์ที่จำเป็นในคราวต้องใช้ในการลำเลียง ไม่ว่าจะเป็นยวดยานพาหนะ ภาชนะสำหรับใส่ลูกปลา, เครื่องมือให้ออกซิเจน, น้ำที่ใช้ลำเลียง,และยาสลบเพื่อช่วยพักฟื้นในขณะการขนย้ายปลาต้องเตรียมให้พร้อม
การลำเลียงขนย้ายลูกปลาทั่วไปนิยมปฏิบัติ 2 รูปแบบ
1. การลำเลียงโดยภาชนะแบบเปิด วิธีการนี้เราใช้ภาชนะจำพวกพลาสติกหรือไฟเบอร์ แบบปิดฝาหรือเปิดฝาโดยสังเกตความเหมาะของสมขนาดปลาและควรต้องมีช่องเพื่อให้อ๊อกซิเจนหมุนเวียนเข้า – ออกได้โดย ส่วนใหญ่ใช้ลำเลียงลูกปลาคราวละมากๆ เช่น ลูกปลาขนาด 1-2 ซม. เราควรจะลำเลียง 3-5 ตัว/น้ำ 1 ลิตร วิธีนี้เหมาะสมกับการขนส่งระยะทางไกลๆจุดประสงค์เพื่อที่จะนำลูกปลาไปเลี้ยงอนุบาล หรือจำหน่ายลูกปลามีชีวิต
2. การลำเลียงโดยใส่ภาชนะแบบปิด ในปัจจุบันนิยมใช้ถุงพลาสติกค่อนข้างแพร่หลายข้อดีคือ สะดวกในขณะลำเลียง โดยเติมน้ำแล้วอัดออกซิเจนลงไปในภาชนะก่อนปิดปากถุง วิธีนี้เหมาะสมกับใช้ลำเลียงลูกปลาที่มีขนาดเล็กระยะทางไม่ไกลมากหรือบางครั้งแพ็คใส่กล่องโฟมขนส่งทางเครื่องบิน โดยใช้ยาสลบเป็นตัวช่วยพักฟื้นในขณะเดินทาง ยกเว้นลูกปลามีขนาดใหญ่ ขนาด 2-3 ซม. ควรลำเลียงปลา 1-2 ตัว/น้ำ 1 ลิตร ใน การลำเลียงขนย้ายปลาขนาดเริ่มโตนั้นเราควรต้องใช้ถังไฟเบอร์หรือแบบโลหะมีฝาปิดเจาะรูไว้ด้วยเพื่อได้หย่อนสายออกซิเจนลงไปในภาชนะลำเลียง
เมื่อทุกอย่างพร้อมที่จะลำเลียงอาศัยว่ามีประสบการณ์มาด้วยตัวเองและเห็นตัวอย่างจากที่อื่นๆมาบ้าง สิ่งเหล่านี้ต้องยึดถือปฏิบัติช่วงระหว่างในการลำเลียงลูกปลา ถ้าแก้ไขเองได้ก็แก้ไข หากไม่แน่ใจเราก็ควรติดต่อสื่อสารกับผู้มีประสบการณ์
ปัจจัยด้านอื่นๆ ที่จำเป็นและไม่ควรมองข้าม
- ก่อนการลำเลียงขนย้ายลูกปลาต้องงดอาหาร 24 ชม. ทั้งนี้ให้อาหารในกระเพาะอาหารถูกใช้จนหมดป้องกันลูกปลาจะขับถ่ายของเสียในขณะการลำเลียง
- ขนาดลูกสัตว์น้ำในขณะการลำเลียงต้องเลือกลูกปลาที่ขนาดใกล้เคียงกันเพื่อป้องกันลูกปลาจะกัดกินกันเองในขณะลำเลียง
- ภาชนะที่ใช้ลำเลียงเราต้องทราบด้วยว่าปลาที่เราจะไปลำเลียงเหมาะสมกับภาชนะลำเลียงแบบใด เช่น ลูกปลาหมอทะเลหรือลูกปลากะรังจุดฟ้า นิสัยจะตกใจและช๊อคตายโดยง่าย ดังนั้น การลำเลียงช่วงขึ้นหรือลงในภาชนะขณะลำเลียงเราต้องระมัดระวังกันพิเศษ
- อุณหภูมิเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งเพราะว่าการลำเลียงลูกสัตว์น้ำหากเราควบคุมอุณหภูมิต่ำประมาณ15-23oC จะช่วยให้ลูกปลามีอัตรารอดตายมากขึ้น รวมถึงช่วงเวลาลำเลียงลูกปลาควรเป็นตอนเช้ามืดหรือช่วงเวลากลางคืน
- เครื่องให้อากาศเป็นสิ่งที่สำคัญที่ขาดเสียมิได้ ดังนั้น การลำเลียงพันธุ์ปลาแบบเปิดเราควรนำปั๊มไปสำรองไว้ เพื่อป้องกันหากเครื่องเสียจะได้สับเปลี่ยนได้ทันเวลา
- สัตว์น้ำบางชนิดก่อนการลำเลียงเราอาจใช้จำพวก ยาเหลือง, เกลือ, ยาสลบ หรือด่างทับทิม เพื่อทำลายเชื้อโรคและแบคทีเรียที่มักจะเกาะมาอยู่ที่ตัวสัตว์น้ำ
ในขณะการลำเลียงเราต้องหมั่นคอยตรวจเช็คแอร์ปั๊ม ท่อลม, สายยางแอร์ปั๊มข้อต่อหรือ หัวทรายว่าปกติดีพอหรือไม่บางครั้งอาจหลวมหรือหลุดในขณะการเดินทาง สามารถแก้ไขได้โดยทันท่วงที
เพราะว่าจากประสบการณ์การลำเลียงลูกพันธุ์ปลากะรังจุดฟ้ามาจาก จ.ตราด (ขนาด 1-2 ซม.) มายังสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จ.สงขลา ต้องใช้ระยะเวลายาวนานถึง 22-24 ชม. ซึ่งทราบมาก่อนว่า การลำเลียงลูกปลากะรังจุดฟ้าจากหน่วยงานที่อื่นนั้น เมื่อลำเลียงไปเพียง 2-3 ชม. ลูกปลาจะช็อคตาย 30-40% แต่ปรากฏว่า การลำเลียงลูกปลาของเรามาจาก จ.ตราด ในครั้งนี้ลูกปลาที่ลำเลียงตายประมาณ 10% ซึ่ง ถือว่าเป็นความสำเร็จที่น่าพอใจกับการลำเลียงลูกปลากระรังจุดฟ้าที่ขึ้นชื่อว่าตกใจและช็อคตายง่ายถ้ามีการลำเลียงขนส่งระยะทางไกล
การลำเลียงขนย้ายลูกปลาที่มีชีวิตไม่ว่าเราจะลำเลียงระบบเปิดหรือระบบปิด นับว่าสำคัญและเสี่ยงไม่น้อยไปกว่ากันดังนั้นอุปกรณ์ที่ใช้ในการลำเลียงแทบทุกด้านต้องพร้อมใช้งานได้สิ่งกระผมกล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการลำเลียงลูกปลา เราซึ่งเปรียบเป็นหมอหรือพยาบาลในขณะนั้นจึงต้องมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่องานได้รับมอบหมาย ประการสำคัญลูกปลายังมีชีวิตพร้อมท้าทายจะเป็นหรือตายขึ้นอยู่กับการควบคุมดูแลของเราเอง เมื่อได้เรียนรู้และปฏิบัติจริงๆแล้วผมเชื่อว่าคุณพร้อมจะเป็นมืออาชีพได้หรือไม่คำตอบจะบอกได้ในตัวของมันเอง ส่วนปัจจัยด้านอื่นๆหากคิดว่าเราได้ทำเต็มที่และสุดความสามารถทุกอย่าง เริ่มลงมือปฏิบัติเชื่อว่าความสำเร็จจะตามมา
การสังเกตุพฤติกรรมของปลาที่เลี้ยง
ในการเลี้ยงปลาแต่ละชนิดไม่ว่าจะเลี้ยงในกระชัง ในระบบน้ำหมุนเวียนและในบ่อคอนกรีตก็ตาม การป้องกันและการสังเกตุปลาที่เลี้ยงเป็นแนวทางที่จำเป็นมากในการเลี้ยงปลา ที่จะนำมาใช้ในการเลี้ยงปลาและเป็นผลดีต่อผู้เลี้ยงปลา ซึ่งการป้องกันและกำจัดสิ่งที่มารบกวนปลาก่อนที่จะมาถึงตัวปลาให้หมดหรือไม่หมดก็ได้ เพราะมันจะกลับมาอีก ถ้าไม่มีการสังเกต การป้องกัน เช่น ออกซิเจนต่ำ ปลาไม่กินอาหาร ปลาลอยหัว ปลาเป็นแผล ปลาตาย ปลาเอาลำตัวถูกับพื้นบ่อ และการจัดการในเรื่องต่าง ๆ ในการเลี้ยงปลา ซึ่งถ้าไม่แก้ไขและป้องกันจะทำให้เสียหายมากขึ้น แต่ถ้ามีการสังเกต ป้องกัน แก้ไข และตัดไฟแต่ต้นลมก็จะลดการสูญเสียน้อยลง โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ออกซิเจนต่ำ ออกซิเจนไม่พอเพียงสำหรับปลาหายใจ ปลากินอาหารมากและเวลาแช่ยาปลาที่เป็นโรค ออกซิเจนเป็นตัวช่วยให้ปลามีชีวิตอยู่ได้ และทำให้ปลาเจริญเติบโตดี ถ้าเลี้ยงปลาหนาแน่นมาก ให้อาหารปลากินมาก ควรมีการเฝ้าระวังเป็นอย่างดี เพราะออกซิเจนจะต่ำช่วงไหนก็ได้ ดังนั้นเราจึงต้องมีการสังเกตและป้องกันตลอดระยะของการเลี้ยงปลา
ข้อสังเกต
อาการปลาที่ตายจากการขาดออกซิเจน ปลาอ้าปากและถ้าปลาเริ่มขาดออกซิเจนจะเริ่มลอยหัว ตัวดำเพราะปลาเครียดและถ้าพบอาการแบบนี้ต้องเพิ่มอากาศให้มาก โดยการติดตั้งแอร์ปั้มเพิ่มทันที หรือถ้าน้ำขุ่นต้องมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำทันที
วิธีการป้องกันและไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นบ่อย ๆ ควรต้องมีการตรวจเช็คออกซิเจนเป็นระยะ ๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขออกซิเจนต่ำ และเมื่อรู้ว่าบ่อไหนออกซิเจนต่ำก็จะทำการแก้ไขโดยการเพิ่มออกซิเจนให้ปลา โดยออกซิเจนควรจะอยู่ในช่วง 5 ขึ้นไปถึงจะดี และถ้าต่ำกว่า 4 ลงมาควรมีการเพิ่มปั้มลมไว้ก่อน เพื่อป้องกันปลาขาดออกซิเจน
2. ปลาไม่กินอาหาร ปลาลอยหัว ปลาเอาลำตัวถูกับพื้นบ่อ ปลาเป็นแผลและเกาะกลุ่มอยู่ที่ออกซิเจน ซึ่งเป็นอาการของปลาที่เลี้ยงและพบบ่อยในระบบน้ำหมุนเวียน และอาจจะสันนิฐานได้ว่าปลาที่เลี้ยงอาจจะเป็นโรคชนิดใดชนิดหนึ่ง หรืออาจจะเป็นพวกปรสิตเกาะและถ้าพบอาการแบบนี้ในปลา 1-2 ตัว ให้ทำการป้องกันหรือสังเกตอาการปลาที่เลี้ยง ซึ่งจะได้รักษาและป้องกันได้ถูกทาง ถ้าไม่สังเกตอาการก่อนจะเกิดความเสียหายสูญเสียปลามาก ทำไมปลาลอยผิว ทำไมปลาเอาลำตัวถูกับพื้นบ่อ และทำไมปลามารวมกลุ่มที่ออกซิเจน ซึ่งเหมือนกับหมอที่รักษาคนไข้ ต้องถามอาการและสังเกตคนไข้ก่อนจึงจะรักษาไข้ถูกวิธี แต่ปลาที่เลี้ยงเขาพูดไม่ได้ เราจึงต้องมีการสังเกตอาการปลาที่เลี้ยง เพื่อจะได้รักษาและป้องกันได้ถูกวิธีและไม่ลุกลามไปมากกว่าที่เป็นอยู่ เช่น
- ปลาเอาลำตัวถูกับพื้นบ่อ อาจมีหลายสาเหตุ เช่น จุดขาว ปรสิตเกาะซึ่งทำให้ปลาเป็นแผลและ
ติดเชื้อตาย
วิธีป้องกัน
- จะทำทันที่เมื่อพบเห็นอาการแบบนี้หรือถ้าเห็นปลาตายก็นำปลาไปตรวจก่อน แต่ต้องนำปลาที่
พึ่งตายหรือปลายังไม่ตายตรวจหรือจับปลามาขูดเมือกปลาไปตรวจดู บางครั้งอาจสุ่มทีละ 2-3 ตัว เพื่อให้แน่ใจว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่หรือไม่ ถ้าพบก็ทำการรักษาและป้องกันไม่ให้ลุกลามมากขึ้น
- ปลาลอยหัวเกาะกลุ่มอยู่ที่ออกซิเจน ซึ่งต้องสังเกตให้ดีว่าปลาเกาะกลุ่มเป็นโรคหรือเกาะกลุ่ม
เพราะขาดออกซิเจน และปลาที่เกาะกลุ่มเป็นโรคอาจจะมีบางสิ่งบางอย่างไปรบกวนการทำงานของเหงือกปลา ทำให้ปลาใช้ออกซิเจนไม่เติมที่ และอาจจะทะยอยตายก็ได้
- เมื่อพบว่าปลาลอยหัวก็ให้นำปลาที่ลอยไปตรวจเช็คทันที
สีของน้ำที่เลี้ยงปลา
สีของน้ำจะทำให้ผู้เลี้ยงปลาสามารถสังเกตอาการของปลาที่เลี้ยงได้ดี เช่นน้ำใสเห็นตัวปลาทำให้เห็นอาการต่าง ๆ ของปลาสะดวก ซึ่งสามารถป้องกันและกำจัดได้ทันที และเมื่อใดสีของน้ำที่เลี้ยงขุ่น มีแพลงต์ตอนพืชอยู่เต็มระบบน้ำหมุนเวียนอาจทำให้ผู้เลี้ยงปลาสังเกตและป้องกันได้ยาก แต่ถ้าพบว่ามีแพลงต์ตอนพืชมากอาจมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำหรืออาจใส่โรติเฟอร์ลงไปในบ่อเพื่อให้โรติเฟอร์กินแพลงต์ตอนพืช หรืออาจมีการตรวจคุณภาพน้ำเป็นระยะเพื่อป้องกันเหตุต่าง ๆ ที่จะตามมา
การสังเกตพฤติกรรมปลาที่เลี้ยง จึงมีความสำคัญ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่า ปลายังมีความสุขอยู่ดีหรือไม่ ถ้าปลาที่เลี้ยงมีอาการต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวมา แสดงว่ามีสาเหตุที่ทำให้ปลาไม่มีความสุขอยู่ในบ่อปลา ควรจะต้องหาสาเหตุและแก้ไขก่อน ที่จะสายเกินกาล
ในการเลี้ยงปลาแต่ละชนิดไม่ว่าปลาน้ำจืดหรือปลาน้ำเค็ม เลี้ยงในบ่อเลี้ยงในกระชัง เลี้ยงในระบบน้ำหมุนเวียนควรจะมีการสังเกตระบบการจัดการที่ดี จึงจะทำให้การเลี้ยงปลา ประสบความสำเร็จ
แนวทางการจัดการ
ควรมีการตรวจเช็ค คุณภาพของน้ำเป็นประจำ มีการตรวจโรคและบันทึก การตรวจโรคทุกครั้ง การตรวจโรคไม่จำเป็นต้องรอให้ปลาเป็นโรคหรือแสดงอาการก่อน วิธีการนำปลาตรวจโดยการสุ่มปลามาตรวจอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง เพื่อป้องกันโรค เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่าเชื้อโรคจะมาตอนไหน และถ้าตรวจพบโรคดังกล่าวหรืออาการต่าง ๆ ที่ได้เห็นมานำมาวิเคราะห์ดูว่าปลาเป็นโรคอะไร มาจากสาเหตุอะไรจึงทำให้ปลาที่เลี้ยงอ่อนแอลง และเมื่อพบสาเหตุแล้วทำการรักษาทันที เพื่อตัดวงจรของโรคไม่ให้ลุกลาม และอีกประการหนึ่ง ถ้ามีการเลี้ยงปลาหนาแน่น ควรมีการเฝ้าระวังในเรื่องออกซิเจนอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะการรักษาปลาโดยวิธีแช่ยา 24 ชั่วโมง ควรมีการเพิ่มปั้มลมและการใช้ยารักษาควรใช้ให้ถูกกับโรคและไม่ควรใช้เกินขนาด เพราะอาจทำให้ปลาตายและทำให้ปลาโตช้าและแกรน
ในการเลี้ยงปลาแต่ละชนิดไม่ว่าปลาน้ำจืดหรือปลาน้ำเค็ม เลี้ยงในบ่อ เลี้ยงในกระชังในระบบน้ำหมุนเวียนควรจะมีการสังเกตพฤติกรรมปลาที่เลี้ยง จึงมีความสำคัญซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่า ปลายังมีความสุขอยู่ดีหรือไม่ ถ้าปลาที่เลี้ยงมีอาการต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาแสดงว่ามีสาเหตุที่ทำให้ปลาไม่มีความสุขอยู่ในบ่อปลา ควรจะต้องหาสาเหตุและแก้ไขก่อนที่จะสายเกินกาล ผมหวังว่า บทความนี้คงจะช่วยให้ผู้เลี้ยงปลา สามารถสังเกตพฤติกรรมของปลา วิเคราะห์หาทางแก้ไข ก่อนที่จะเสียหายมากนะครับ แล้วพบกันใหม่
การเลี้ยงลูกปลาน้ำจืดแบบพัฒนา
การเลี้ยงปลาคือการนำปลามาเลี้ยงเพื่อจะได้จับเป็นอาหารหรือขายเป็นรายได้แก่ผู้เลี้ยง ซึ่งการเลี้ยงปลาจะทำให้เราได้ใช้ประโยชน์จากแผ่นดินและผืนน้ำได้มากขึ้น สามารถช่วยเพิ่มผลผลิตอาหารเพื่อใช้บริโภคและจำหน่ายเป็นรายได้ และเนื้อปลายังมีโปรตีนสูงและย่อยง่ายอีกด้วย
ปัจจัยและสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการเลี้ยงปลา
1. ต้องเลือกทำเลที่เหมาะสม
ควรตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือที่สามารถนำน้ำเข้าบ่อได้สะดวก ลักษณะของดินควรอุ้มน้ำได้ดี เช่นดินเหนียว ซึ่งบ่อเลี้ยงปลาควรขุดในพื้นที่ลาดเอียงเล็กน้อย ไม่ควรสร้างในที่ลาดเอียงมากหรือที่น้ำท่วมถึง และบ่อเลี้ยงปลาควรอยู่กลางแจ้ง และควรอยู่ใกล้บ้านจะได้ปลอดภัยจากขโมย และดูแลรักษาปลาได้สะดวก
2. การขุดบ่อปลา
- ขั้นแรกคือการวางผังหรือกำหนดเขตวางแนวบ่อปลาลงบนผืนดินที่เลือกแล้ว โดยกำหนดให้แต่ละด้านยาวประมาณ 14 เมตร โดยให้เป็นความยาวของบ่อด้านละ 10 เมตร ส่วนอีกด้านละ 2 เมตรเป็นขอบบ่อแต่ละด้าน จากนั้นให้ถางพื้นที่ให้ปราศจากต้นไม้ พุ่มไม้ และหญ้า ขุดตอและรากไม้ออกให้หมด
- ขุดดินผิวหน้าลึกประมาณ 20 ซม.ออกให้ทั่วบริเวณที่จะขุดบ่อปลาแล้วนำไปกองรวมไว้ด้านข้าง จากนั้นจึงทำการขุดบ่อปลาแล้วควรปรับก้นบ่อให้เรียบโดยปรับให้ลาดเอียงจากตื้นไปหาลึก บ่อข้างที่ตื้นควรให้มีระดับน้ำลึกประมาณหัวเข่า ส่วนบ่อข้างที่ลึกควรให้มีระดับน้ำลึกประมาณเอว จากนั้นนำดินผิวหน้าที่ขุดออกซึ่งกองอยู่ริมบ่อไปถมที่ขอบบ่อ ( กว้าง 2 เมตร ) สร้างให้เป็นคันบ่อ แต่ไม่ควรสร้างให้ขอบบ่อชันเกินไป แต่ควรทำให้เอียงลาดเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของขอบ่อ จากนั้นให้กระทุ้งดินที่ขอบบ่อให้แน่นเพื่อให้ขอบบ่อแข็งแรงเพื่อป้องกันการกัดเซาะของน้ำในบ่อและป้องกันการรั่วซึมของขอบบ่อ
- เมื่อขุดบ่อเสร็จแล้ว ในการระบายน้ำเข้าบ่อควรทำทางน้ำเข้าบ่อด้านน้ำตื้นให้ท่อระบายน้ำอยู่เหนือระดับน้ำในบ่อเพื่อระบายน้ำได้สะดวกและควรทำท่อระบายน้ำออกจากบ่อด้านน้ำลึกเพื่อป้องกันไมให้น้ำล้นบ่อเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าบ่อมากเกินไปซึ่งท่อน้ำเข้าและท่อน้ำออกนี้สามารถทำได้โดยใช้ลำไม้ไผ่ที่ทะลุปล้องมาใช้เป็นท่อระบายน้ำ
- เมื่อขุดบ่อปลาเสร็จแล้วนำดินผิวหน้าที่ขุดกองไว้ไปตบแต่งคันดินแล้วปลูกหญ้าบนคันดินเพื่อป้องกันดินพังทะลายหรือถูกชะล้างไหลลงบ่อเวลาฝนตกหรือจะปลูกพืชผัก เช่น มะละกอ พริก มะเขือหรือมะพร้าวแทนหญ้าก็ได้
3. การระบายน้ำเข้าบ่อปลา
ทำได้โดยใช้ลำรางเล็กๆซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกและประหยัดและถ้าเป็นการระบายน้ำมาจากลำธารควรระมัดระวังอย่าให้ปลาชนิดอื่นติดมาด้วยซี่งสามารถป้องกันได้โดยใช้ตะแกรงตาถี่ขวางกั้นที่ปากท่อน้ำเข้าบ่อ และถ้าหากไม่มีตะแกรงตาถี่ก็สามารถใช้กับดักปลา เผือกไม้ไผ่ หม้อดินที่เจาะรูที่ก้น หรือกระป๋องนมที่เจาะรูที่ก้นใช้สวมที่ท่อไม่ไผ่
4. การใส่ปุ๋ยในบ่อปลา
เป็นการช่วยเพิ่มอาหารธรรมชาติให้แก่ปลาในบ่อซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆโดยใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก โดยสร้างเป็นคอกเล็กๆไว้ริมขอบบ่อด้วยไม่ไผ่หรือไม้อื่นๆที่ขอบบ่อด้านน้ำตื้นแล้วใส่ปุ๋ยลงไปในคอกที่เตรียมไว้ ต่อมาน้ำในบ่อก็จะเป็นสีเขียวแสดงว่าเกิดอาหารธรรมชาติในบ่อเพิ่มขึ้นวึ่งจะทำให้ปลาเจริญเติบโตเร็วขึ้นและเพื่อรักษาน้ำในบ่อปลาให้เขี้ยวอยู่เสมอให้ใส่ปุ๋ยในคอกหนึ่งถังทุกสัปดาห์ ซึ่งการทำปุ๋ยคอก มีวิธีการทำดังนี้
- เตรียมกองปุ๋ยคอกไว้ใกล้ๆบ่อปลาให้อยู่ในที่ร่ม จะได้ไม่เปียกฝน
- การทำปุ๋ยคอกให้เตรียมเป็นชั้นๆ ชั้นแรกเป็นพวกหญ้า หรือใบไม้ ผสมคลุกเคล้ากับดินจากผิวหน้าดิน แล้วรดน้ำให้เปียกกชุ่มเพื่อช่วยให้หญ้าและใบไม้เน่าสลายตัวเร็วขึ้น
- ชั้นที่ 2 เป็นชั้นของมูลสัตว์โดยผสมคลุกเคล้ากับดินจากผิวหน้าดินแล้วรดด้วยน้ำให้เปียกชุ่ม ส่วนมูลสัตว์ที่ใช้ได้จากสัตว์หลายชนิด เช่น หมู ไก่ เป็ด แกะ แพะ วัว ควาย ในกรณีที่หาข้อมูลยากอาจใช้เมล็ดฝ้าย ผลไม้เน่าเสีย ขยะจากบ้านเรือน ขี้เถ้า หรืออุจจาระมนุษย์แทนได้
- ชั้นถัดมา และชั้นของหญ้าและใบไม้และชั้นของฒูลสัตว์สลับกันไปจนได้ขนาดของกองปุ๋ยตามต้องการ
- จากนั้นรักษากองปุ๋ยคอกให้ชุ่มอยู่เสมอ โดยรดน้ำ 2-3 วันแล้วปล่อยให้ปุ๋ยคอกสลายตัวไปเองซึ่งใช้เวลานานประมาณ 1 เดือน และเวลาจะใช้ให้โกยปุ๋ยคอกจากชั้นล่างหรือส่วนที่สลายตัวมากที่สุดนำไปใส่ในบ่อปลา จากนั้นก็ให้เพิ่มปุ๋ยในกองปุ๋ยทุกสัปดาห์จะได้มีปุ๋ยใช้อย่างสม่ำเสมอ
การปล่อยปลาลงเลี้ยงในบ่อ
ก่อนที่จะปล่อยปลาลงเลี้ยงในบ่อควรจะมีการเตรียมลูกพันธุ์ปลาให้พร้อม ซึ่งอาจจะหาได้จากแหล่งเลี้ยงปลาอกชนหรือสถานีประมง ในการปล่อยปลาลงเลี้ยงไม่ควรปล่อยหนาแน่นกเกินไป เพราะปลาจะโตช้าและมีขนาดเล็กกว่าที่ควร และถ้าหากต้องการเลี้ยงปลาหลายชนิดรวมกันควรขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการประมง
ในการปล่อยปลาควรตรวจสอบอุณหภูมิของน้ำในบ่อปลาปละน้ำจากถุงลำเลียงปลาไม่ควรแตกต่างกันจนเกินไป ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ง่ายโดยใช้มือข้างหนึ่งจุ่มในน้ำที่บรรจุลูกปลาอีกข้างจุ่มลงในบ่อเลี้ยงปลา และในการปล่อยควรค่อยๆเติมน้ำจากบ่อปลาลงไปในภาชนะที่บรรจุลูกปลาจนกระทั้งน้ำมีอุณหภูมิเท่ากัน ไม่ควรเทปลาจากภาชนะลงในบ่อโดยตรง
การให้อาหารปลา
ในการเลี้ยงปลาควรให้อาหารปลาวัน ซึ่งปลาสามารถกินอาหารได้หลายอย่าง เช่น
- หยวก
- ใบมันสำปะหลัง และกากมันสำปะหลัง
- กากเมล็ดพืช เช่น กากถั่ว
- รำ
- ข้าวสุก
- พืชผักต่างๆ
- เลือดสัตว์-เครื่องในสัตว์
- ผลไม้เน่า
- เศษอาหาร
และในการอาหารปลาควรให้ในบริเวณบ่อด้านที่ตื้นจะได้สังเกตเห็นปลากินอาหารได้สะดวก และควรให้อาหรมากพอที่ปลาจะกินหมดในแต่ละครั้งไม่ควรให้อาหารมากเกินไป ถ้าปลาสุขภาพดีปลาจะกินอาหารได้มากและรวดเร็ว และถ้าปลากินอาหารไม่หมดควรลดปริมาณอาหารที่ให้ในวันถัดไปแต่ถ้าแลากินอาหารหมดอย่างรวดเร็วควรเพิ่มอาหารอีกเล็กน้อยในวันถัดไปและอย่าลืมเติมปุ๋ยคอก 1 ถัง ทุกสัปดาห์ลงในคอกที่เตรียมไว้ริมบ่อ
การดูแลรักษาบ่อ
ในการเลี้ยงปลาควรมีการดูแลรักษาบ่อโดยตรวจสภาพบ่อปลาทุกวัน เพื่อสำรวจดูความเรียบร้อย เช่น ดูระดับน้ำในบ่อ ตะแกรงกั้นน้ำเข้าออกและควรหมั่นกำจัดวัชพืช หรือหญ้าที่ขึ้นริมบ่อ หากพบรอยรั่วของบ่อให้รีบซ่อมแซมทันที และควรกำจัดศัตรูของปลาให้หมด
การจับปลา
อย่าจับปลาในช่วง 5 เดือนแรกหลังจากนั้นอาจจับปลาได้ขนาดสัปดาห์ละ 4-5 ตัวเพื่อบริโภคในครัวเรือน และเมื่อปลาโตได้ขนาดประมาณ 6 เดือนก็สามารถจับขายได้
แนวทางการเลี้ยงปลาน้ำจืดของไทยแบบผสมผสาน
การเลี้ยงปลาในนาข้าว หรือการเลี้ยงปศุสัตว์ เช่น สุกร เป็ด ไก่ และการเลี้ยงปลาร่วมกับปลานั้น เกษตรกรในประเทศไทยและต่างประเทศได้ปฏิบัติกันมานานแล้ว เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่น รวมทั้งบางประเทศในยุโรปตะวันออก เช่นฮังการี ประเทศเหล่านี้ต่างยอมรับว่า ระบบการผลิตสัตว์น้ำและสัตว์บกที่ผสมผสานกันนี้ เอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่กันเป็นอย่างดี นับเป็นระบบการผลิตทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพสูงมากระบบหนึ่ง
ข้อดีของการเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน
สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้เต็มที่ ที่ดินรอบ ๆ บ่อใช้ปลูกพืชผัก และสร้างคอกเลี้ยงสัตว์ ส่วนน้ำในบ่อนอกจากใช้เลี้ยงปลาแล้วยังปลูกพืชอื่น ๆ ได้อีก เช่น ผักบุ้ง ผักกระเฉด
เศษเหลือของพืชและสัตว์สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกเช่น มูลสัตว์ เศษอาหาร เศษผักหญ้าต่าง ๆ ซึ่งตกลงไปในบ่อก็จะกลายเป็นอาหารปลาและเป็นปุ๋ยสำหรับเติมบ่อปลา ขณะเดียวกันโคลนเลนก้นบ่อก็สามารถนำมาปลูกพืชต่าง ๆ ได้ดีการนำเศษเหลือ ของเสียต่าง ๆ กลับมาใช้อีกเป็นการกำจัดของเสีย และช่วยลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าอาหารปลา ค่าอาหารสัตว์ ค่าปุ๋ย
เป็นการเพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้ สามารถใช้บริโภคภายในครอบครัวถ้าเหลือก็สามารถนำออกจำหน่าย เกิดเป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อดำเนินการต่อไป และเป็นการใช้แรงงานภายในครอบครัวให้เป็นประโยชน์
ลดอัตราการเสี่ยงต่อการขาดทุนได้ดีกว่า การเลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์ หรือปลูกพืชเพียงอย่างเดียวและเป็นการลดต้นทุน เพราะกิจกรรมแต่ละอย่างต้องพึ่งพากัน
ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียน ในการจำหน่ายผลผลิตจากฟาร์มตลอดปี
ลักษณะการเลี้ยงปลาแบบผสมผสานกับการเลี้ยงสัตว์
การเลี้ยงปลาแบบผสมผสานหากจำแนกตามที่ตั้งของโรงเรือนเลี้ยงสัตว์จะพบว่ามีสอง ลักษณะคือ
แบบสร้างโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ไว้เหนือบ่อเลี้ยงปลา เป็นแบบที่นิยมกันมากที่สุด เพราะสะดวกและสามารถระบายมูลสัตว์จากโรงเรือนลงสู่บ่อปลาโดยตรงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในโรงเรือนบนบ่อปลาจะได้ประโยชน์จากบ่อปลาในการช่วยลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้ต่ำลง สัตว์จึงไม่เครียด ทำให้กินอาหารได้มากขึ้นโตเร็วและต้านทานโรคได้ดีทั้งยังดูแลรักษาความสะอาดได้ง่าย ประหยัดแรงงาน ข้อเสียคือ ต้นทุนค่าสร้างโรงเรือนสูงขึ้น เนื่องจากต้องใช้ไม้ทำเสา และวัสดุปูพื้นเพิ่มขึ้นโรงเรือนลักษณะนี้เหมาะสำหรับเลี้ยงสัตว์เล็ก เช่น เป็ดหรือไก่เท่านั้น
แบบสร้างโรงเรือนแยกออกไปจากบ่อปลา โดยมีรางระบายมูลสัตว์จากโรงเลี้ยงมาสู่บ่อปลา แบบนี้จะพบมากในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ใหญ่ เช่น สุกร ที่สร้างโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อยู่ก่อนแล้วจึงขยายเนื้อที่เลี้ยงปลาโดยการขุดบ่อในภายหลัง
เกษตรกรที่จะลงทุนเลี้ยงปลาผสมผสานโดยการสร้างโรงเรือนและขุดบ่อเลี้ยงปลานั้น ขอแนะนำให้สร้างตามแบบแรก ถึงแม้ว่าต้องลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ผลตอบแทนในระยะยาวจะคุ้มค่าเพราะประหยัดพื้นที่และประหยัดแรงงานมากกว่า สำหรับเกษตรกรที่มีโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อยู่แล้ว หากต้องการเลี้ยงปลาเพิ่มขึ้นควรใช้แบบที่สอง
การเลี้ยงปลาร่วมกับการเลี้ยงไก่
การเลี้ยงผสมผสานแบบนี้ มีจุดประสงค์คล้ายคลึงกับการเลี้ยงปลาร่วมกับการเลี้ยงเป็ด คือใช้มูลไก่เป็นอาหารของปลาที่เลี้ยง หรือใช้เป็นปุ๋ยสำหรับการเจริญเติบโตของอาหารธรรมชาติและเป็นอาหารของปลาอีกทอดหนึ่ง
ลักษณะบ่อปลาและเล้าไก่
บ่อที่ใช้เลี้ยงปลาร่วมกับการเลี้ยงไก่นั้นใช้บ่อดินที่มีลักษณะเดียวกับบ่อเลี้ยงปลาโดยทั่วไปควรเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความลึกประมาณ 1.50 - 2.00 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้โดยเฉลี่ย 1-1.50 เมตร ในช่วงที่มีการเลี้ยงปลาร่วมกับการเลี้ยงไก่
เล้าไก่ ซึ่งเป็นอาคารและโรงเรือนควรสร้างคร่อมบ่อที่เลี้ยงปลา เพื่อใช้ประโยชน์จากพื้นที่เดียวกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นการเหมาะสมเมื่อไก่ที่เลี้ยงถ่ายมูลหรือเศษอาหารตกลงในบ่อเป็นประโยชน์ต่อปลาโดยตรง โดยมิต้องเสียเวลาในการทำความสะอาดเป็นการตัดภาระในด้านค่าใช้จ่าย สำหรับรูปร่างของเล้าไก่นั้นก็ควรสร้างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าเช่นเดียวกัน พื้นเล้าไก่สูงกว่าระดับผิวน้ำในบ่อเฉลี่ย 1.20 เมตร
แบบตั้งบนบ่อปลา ปลาจะได้รับอาหารที่ไก่เขี่ยกระเด็นออกมาเป็นอาหารโดยตรง และได้รับอาหารจากมูลไก่ที่ย่อยไม่หมด ส่วนที่เหลือจะกลายเป็นปุ๋ยให้เกิดแพลงก์ตอนในบ่อต่อไป ปลาเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วโดยสามารถลดปริมาณอาหารสมทบหรือไม่ต้องลงทุน ลดแรงงานและเวลาในการหาอาหารให้ปลา ไม่ต้องทำความสะอาดในเล้า
ส่วนเล้าไก่ที่สร้างบนพื้นดินนั้น มูลไก่และเศษอาหาร จะตกลงที่พื้นดินใต้เล้าหากทิ้งไว้นานคุณค่าอาหารจะเปลี่ยนไป เพิ่มงานและเสียเวลาเพื่อขนถ่ายมูลไก่ไปลงบ่อปลา สัปดาห์ละครั้งเป็นอย่างน้อย ทั้งยังสามารถควบคุมให้ปริมาณปุ๋ยในบ่อไม่มากเกินไปได้โดยการทยอยใส่ปุ๋ยลงในบ่อ ในกรณีพื้นที่นั้นมีปริมาณน้ำที่จะใช้น้อย เช่น ปีหนึ่งมีน้ำเพียง 8 เดือนอย่าสร้างเล้าไว้บนบ่อ
ทิศทางและตำแหน่งที่ตั้งเล้าไก่
การสร้างเล้าไก่ควรหันให้ด้านยาวของเล้าหันในทิศทางตะวันออก-ตะวันตก เพื่อไม่ให้แสงแดดส่องเข้าในเล้าโดยตรงนานเกินไปในช่วงสาย ๆ และบ่าย ๆ แต่ถ้าไม่สามารถหันได้ตามทิศทางดังกล่าวและด้านยาวจำเป็นต้องหันไปทิศเหนือ-ใต้ ก็จะต้องทำชายคาให้ต่ำลงมาบังแสงได้เพียงพอ
ขนาดและลักษณะเล้าไก่
เล้าไก่ควรเป็นแบบเปิดและอยู่กลางแจ้ง เพื่อจะได้รับแสงสว่างและการถ่ายเทอากาศจากธรรมชาติ ปกติแล้วเล้าจะปลูกสร้างเป็นแถวเดียว มีหลังคาเป็นแบบจั่ว มีความยาว 6-8 เมตร และมีความสูง 3.0 เมตร แต่ละห้องแบ่งขนาด 100 ลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 40 ตารางเซนติเมตร เลี้ยงไก่ได้จำนวน 800 ตัว ส่วนความกว้างของเล้าจะขึ้นอยู่กับจำนวนไก่ที่เพิ่มขึ้น เล้าไก่ควรมีอัตราส่วนช่องหน้าต่างต่อเนื้อที่พื้นเล้าเท่ากับ 1:8 - 1:10 เพื่อช่วยให้เกิดการถ่ายเทอากาศได้ดี พื้นเล้าสูงจากระดับน้ำบ่อปลาประมาณ 1.0 - 1.50 เมตร
วิธีการเลี้ยงไก่ร่วมกับการเลี้ยงปลาแบบการค้า
สำหรับเกษตรกรที่มีความสนใจจะเลี้ยงไก่ผสมผสานกับเลี้ยงปลาให้เป็นการค้าควรจะเตรียมการและวางแผนการเลี้ยงล่วงหน้าไว้ดังนี้
วางแผนการเก็บเกี่ยวผลผลิตปลาให้พอดีกับฤดูแล้งซึ่งปลาจะมีราคาดี
หลีกเลี่ยงการเลี้ยงปลาและไก่ในฤดูหนาว เนื่องจากเป็นฤดูที่มีโรคระบาด
ตรวจดูความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาการเลี้ยงไก่และชนิดปลาที่จะเลี้ยง
1 รูปแบบผสมผสานที่ 1 เลี้ยงไก่เนื้อกับปลานิล ปลาสวาย ปลาจีน
2 รูปแบบผสมผสานที่ 2 เลี้ยงไก่เนื้อ 2 รุ่นกับปลาดุกบิ๊กอุย
3 รูปแบบผสมผสานที่ 3 เลี้ยงไก่ไข่กับปลานิล
ผู้เลี้ยงควรจัดเตรียมบ่อดินและโรงเรือนไก่ให้เสร็จเรียบร้อยในฤดูแล้งเพื่อความสะดวกใน
การทำงาน มีขั้นตอนดังนี้
บ่อเก่า ให้ล้างบ่อโดยสูบน้ำจับปลาเก่าออกให้หมด และขุดลอกเลนบางส่วนออกโดยให้คงเหลือไว้ 10-20 เซนติเมตร โรยปูนขาวอัตรา 40-60 กิโลกรัม/ไร่ ตากบ่อให้แห้ง
ขุดบ่อใหม่ ควรเปิดน้ำลงบ่อให้พอแฉะ ๆ โรยปูนขาว อัตรา 100-200 กิโลกรัม/ไร่ ตากบ่อให้แห้ง
เปิดน้ำลงบ่อให้ผ่านมุ้งไนลอนตาถี่ เพื่อป้องกันปลากินเนื้อที่อาจหลุดเข้ามาได้
บริเวณท่อน้ำเข้าให้กองปุ๋ยคอกไว้ในอัตรา 60-100 กิโลกรัม/ไร่
เปิดน้ำเข้าบ่อให้มีระดับ 30 เซนติเมตรแล้วปิดน้ำ พักบ่อไว้จนน้ำในบ่อกลายเป็นสีเขียว
เปิดน้ำเข้าบ่ออีกครั้งให้ได้ระดับลึก 1.0 - 1.20 เมตร ควรปักไม้ไว้วัดระดับน้ำ
เมื่อน้ำในบ่อเป็นสีเขียวดีแล้ว ก็สามารถจัดหาพันธุ์ลูกไก่มาเริ่มเลี้ยงบนเล้าได้
อัตราส่วนจำนวนไก่และขนาดบ่อปลา
อัตราส่วนจำนวนไก่ประเภทต่าง ๆ ต่อพื้นที่บ่อทุก ๆ 1 ไร่ โดยตั้งเล้าไว้บนบ่อปลา
ขั้นตอนการเลี้ยงไก่ควบคู่กับการปล่อยปลา
การนำลูกไก่มาเลี้ยงควรเริ่มหลังจากเตรียมบ่อปลาและน้ำมีสีเขียวดีแล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อให้มูลไก่ตกลงสู่บ่อปลา ซึ่งลูกปลาที่เพิ่งปล่อยและอาหารธรรมชาติที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ลูกปลาจะได้กินเป็นอาหารอย่างต่อเนื่อง
การเลี้ยงไก่ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้อัตราการรอดตายสูงที่สุด หากไก่มีอัตรารอดสูงนอกจากผู้เลี้ยงจะไดรับกำไรจากไก่สูงแล้วผลผลิตปลาก็จะสูงตามไปด้วย
อาหารและมูลไก่ในช่วง 5 สัปดาห์แรกนี้ จะเป็นอาหารที่มีคุณค่าสูงต่อลูกปลา ลูกปลาจะสามารถกินมูลไก่ได้โดยตรง
การเลี้ยงปลาสามารถเริ่มเลี้ยงไปพร้อม ๆ กันกับการเลี้ยงไก่
ควรเลือกลูกปลาที่มีลักษณะแข็งแรง ขนาดไล่เลี่ยกัน ขนาดปลาที่จะใช้เลี้ยงเริ่มต้นควรเป็นลูกปลาตัวโตเพื่อให้ได้อัตรารอดตายที่สูง ขนาดของลูกปลากินพืชและปลาที่กินอาหารไม่เลือก ควรเป็น 2 นิ้ว และขนาดลูกปลาดุกควรเป็น 1 นิ้ว
อาหารและการให้อาหาร
ในการเลี้ยงแบบผสมผสานกับการเลี้ยงไก่นั้น โดยปกติถ้าจัดอัตราส่วนที่เลี้ยงให้เหมาะสมต่อกันแล้วก็ไม่จำเป็นต้องให้อาหารสมทบ เพราะปลาได้อาศัยกินมูลไก่และเศษอาหารที่ไก่กินตกหล่นไปในบ่อ และอาหารธรรมชาติอื่น ๆ เพียงพอ เช่น แพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์ ตลอดจนตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลง ฯลฯ
ส่วนในระยะแรกที่ปล่อยพันธุ์ปลาเลี้ยงในบ่อนั้นลูกปลายังมีขนาดเล็ก ไม่แข็งแรง และไม่คุ้นเคยกับมูลไก่ที่ใช้เป็นอาหาร ดังนั้น จึงควรใช้รำข้าวละเอียดโดยโปรยให้ลูกปลากิน หรือให้อาหารผสม เช่น ปลายข้าวต้มผสมรำและปลาป่น ปั้นเป็นก้อนโยนให้ปลากิน หรือจะใช้อาหรที่มีราคาถูก เช่น กากถั่ว หรือเศษอาหารจากภัตตาคารก็ได้ ปริมาณอาหารสมทบที่ให้ควรลดลงตามลำดับและงดเมื่อปลาที่เลี้ยงโตขึ้นและคุ้นกับมูลไก่ที่ใช้เป็นอาหารแล้ว
การจับปลาจำหน่าย
ในกรณีที่เลี้ยงปลานิลกับไก่นั้น จะต้องคัดจับปลานิลขนาดใหญ่ออกจำหน่ายเมื่อเลี้ยงเป็นเวลา 4-5 เดือน เพราะปลานิลที่เลี้ยงไว้จะออกลูกและเพิ่มอัตราความหนาแน่นมากขึ้น ทำให้ปลาส่วนใหญ่ไม่เจริญเติบโตหรือแคระเกร็น การคัดจับปลานิลทำได้ง่าย โดยใช้ข่ายไนลอนขนาดช่องตา 6-8 เซนติเมตร ในช่วงตอนบ่ายกำหนดเวลาให้พอเหมาะกับเวลาที่จะนำปลาไปจำหน่ายให้แก่ผู้ซื้อในตลาด การคัดจับปลานิลต้องปฏิบัติเป็นประจำสำหรับบ่อขนาดใหญ่เนื้อที่ตั้งแต่ 3-5 ไร่ส่วนการเลี้ยงปลานิลกับปลาสวายหรือในการเลี้ยงปลาแบบรวม เมื่อเลี้ยงปลาเป็นเวลา 6-8 เดือน ก็ควรจะใช้อวนขนาดใหญ่คัดจับปลาที่มีขนาดโตออกจำหน่ายเสียบ้างเพื่อลดอัตราความหนาแน่น และทำการวิดน้ำจับปลาทั้งหมดเมื่อเลี้ยงปลาครบรอบ 1 ปี หรือรอจับในช่วงเวลาที่ปลามีราคาสูงขึ้น
การเลี้ยงปลาร่วมกับการเลี้ยงเป็ด
ประโยชน์ที่สำคัญซึ่งได้รับจากการเลี้ยงเป็ดควบคู่กับการเลี้ยงปลา ได้แก่ การเลี้ยงปลาร่วมกับการเลี้ยงเป็ด จะให้คุณประโยชน์หลายประการ อาทิ
มูลเป็ดเป็นปุ๋ยช่วยเพิ่มอาหารธรรมชาติให้กับปลา
อาหารที่ใช้เลี้ยงบางส่วนเมื่อตกหล่นลงไปในน้ำ ปลาจะกินเป็นอาหารโดยตรง หรือมีเศษเหลือบางส่วนกลายเป็นปุ๋ย
เป็ดช่วยเพิ่มออกซิเจนในน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการว่ายน้ำ การเล่นกันของเป็ดตามผิวน้ำในบ่อปลา
เป็ดจะช่วยกำจัดหอย ซึ่งเป็นพาหะของโรคพยาธิ เช่น หอยคัน ซึ่งเป็นปัญหาในด้านสุขอนามัยของประชาชน
ในกรณีเลี้ยงเป็ดร่วมกับปลานิล เป็ดจะคอยควบคุมประชากรของปลานิลให้อยู่ในลักษณะสมดุล ทำให้ปลาที่เลี้ยงเติบโตได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการ
การสร้างเล้าเป็ด
การสร้างเล้าเป็ดควรใช้วัสดุพื้นบ้านซึ่งสามารถหาได้ง่าย เช่น ไม้ไผ่และแฝกหรือจากสำหรับมุงหลังคา ขนาดของเล้าขึ้นอยู่กับจำนวนเป็ดที่เลี้ยง แต่ควรมีเนื้อที่ของเล้า 1 ตารางเมตรต่อเป็ด 5 ตัว ถ้าเลี้ยงเป็ดจำนวน 30 ตัว เล้าเป็ดควรมีเนื้อที่ประมาณ 6 ตารางเมตร ส่วนความสูงของเล้าเป็ดควรสูงพอที่จะเข้าไปเก็บไข่และทำความสะอาดได้สะดวก สามารถกำบังฝนและแดดได้ดี และมีการถ่ายเทอากาศได้ดี นอกจากนี้เล้าเป็ดควรมีประตูเพื่อที่จะขังเป็ดไว้ในเล้าได้ในเวลากลางคืน
พื้นเล้าเป็ดควรจะตีไม้ให้มีระยะห่างกันพอสมควร หรือห่างกันประมาณ 1 เซนติเมตร เพื่อให้มูลเป็ดตกลงสู่บ่อได้ แต่ไม่ควรกว้างมากเกินไป เพราะจะทำให้เป็ดเดินไม่สะดวก และไข่เป็ดอาจจะหล่นลงไปในบ่อได้ นอกจากนี้ ควรมีชานหรือสะพานทอดลงสู่น้ำ เพื่อให้เป็ดขึ้นลงจากเล้าได้สะดวก
อัตราส่วนจำนวนเป็ดที่เลี้ยงกับขนาดของบ่อปลา
พันธุ์เป็ดที่นำมาเลี้ยง ควรเป็นเป็ดพันธุ์ไข่ จะดีกว่าเป็ดพันธุ์เนื้อ ด้วยเหตุผล 3 ประการคือ
เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวได้รับประทานอาหารโปรตีนอย่างสม่ำเสมอ
ไข่เป็ดที่เหลือจากการบริโภคสามารถนำไปจำหน่ายได้ง่ายกว่าจำหน่ายเป็ดทั้งตัว
ถ้าเลี้ยงเป็ดไข่ เป็ดจะเริ่มให้ไข่เมื่ออายุ 5 เดือนไปจนกระทั่งมีอายุ 1 ปี จึงคัดเป็ดที่ไม่
ให้ไข่ออกไป รวมเวลา 18 เดือน แล้วปลดระวาง ส่วนการเลี้ยงเป็ดเนื้อจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน แต่อาจมีความยุ่งยากพอสมควร
ส่วนเป็ดพันธุ์ไข่นั้นมีหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์กากีแคมเบล อินเดียรันเนล เป็ดพันธุ์ลูกผสม
จากปากน้ำหรือนครปฐม สำหรับพันธุ์ที่ดีที่สุดคือ พันธุ์กากีแคมเบล ซึ่งให้ไข่จำนวนมากกว่าพันธุ์อื่น ๆ
จำนวนเป็ดสูงสุดที่ควรใช้เลี้ยงในบ่อคือ 240 ตัวต่อเนื้อที่บ่อขนาด 1 ไร่ สำหรับบ่อขนาด 200 ตารางเมตร ควรปล่อยเป็ดอัตรา 30 ตัวต่อบ่อ (ถ้าต้องการเพียงให้มีผลผลิตใช้เพียงพอแก่การใช้บริโภคของสมาชิกในครัวเรือนทุก ๆ วัน) จำนวนเป็ดจะลดลงเหลือเพียง 10 ตัวสำหรับบ่อขนาด 200 ตารางเมตร
อาหารและการให้อาหารเป็ด
ลูกเป็ดที่ซื้อมาเลี้ยง จะเป็นเป็ดที่มีอายุประมาณ 1 วัน ควรใช้อาหารที่มีคุณภาพสูงเลี้ยงลูกเป็ดในระยะนี้ จนกระทั่งลูกเป็ดอายุครบ 1 เดือน จึงให้อาหารสำหรับเป็ดไข่ซึ่งมีส่วนประกอบ ดังนี้
ปลายข้าว 50% หรือ 1 กระสอบ (น้ำหนัก 100 กก.)
รำข้าวละเอียด 30% หรือ 1 กระสอบ (น้ำหนัก 60 กก.)
หัวอาหาร 20% หรือ 1 ถุงครึ่ง (น้ำหนัก 45 กก.)
พันธุ์ปลาที่เลี้ยงร่วมกับการเลี้ยงเป็ดพันธุ์ปลาที่เหมาะสมเลี้ยงร่วมกับการเลี้ยงเป็ดนั้นควรเป็นพันธุ์ที่กินอาหารไม่เลือกหรือกิน
แพลงก์ตอน เช่น ปลานิล ปลานวลจันทร์เทศ และปลาช่อน โดยใช้ปลานิลเป็นหลัก ส่วนลูกปลาควรมีขนาด 5-7 เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่โตพอจะหลบหนีจากการถูกกินเป็นอาหารของเป็ดได้ อัตราส่วนที่เหมาะสมคือ จำนวนปลานิลขนาด 5 เซนติเมตร 3,000 ตัวต่อไร่ ถ้าเป็นปลาขนาด 3 เซนติเมตร ควรเพิ่มจำนวนขึ้นได้อีกหนึ่งเท่าตัวต่อเป็ดไข่ที่เลี้ยง 240 ตัว
การเลี้ยงเป็ดร่วมกับปลาสวายนั้น ควรปล่อยเป็ดลงในบ่อหลังจากเลี้ยงปลาสวายประมาณ
2 เดือน ปลาจะมีขนาดโตพอดีที่เป็ดไม่สามารถกินเป็นอาหารได้การปล่อยเป็ดลงในบ่อปลาช่วยกินพวกพืชเล็ก ๆ ที่เกิดตามธรรมชาติ เช่น สาหร่าย จอก แหน ตลอดจนสัตว์เล็ก ๆ เช่น หอย ปู ปลาเล็ก ๆ ในส่วนที่ปลาได้รับประโยชน์จากเป็ดก็คือ ปลาสามารถกินของเสียจากเป็ดเป็นอาหารได้ และมูลเป็ดที่ปลากินไม่หมดจะเป็นปุ๋ยให้กับพวกจอก แหน หรือวัชพืช เมื่อพืชเหล่านั้นโตขึ้นมาก็จะเป็นอาหารให้แก่ปลาและเป็ดต่อไป
การเลี้ยงปลาร่วมกับการเลี้ยงสุกร
การเลี้ยงปลาร่วมกับสุกร ได้มีมานานแล้ว ส่วนมากนิยมเลี้ยงปลาจีน ปลาไน ปลานิล
โดยสร้างคอกสุกรบนคันบ่อ มูลสุกรก็จะถูกชะล้างลงสู่บ่อปลาก่อให้เกิดอาหารธรรมชาติในบ่อปลา ซึ่งจะกลายเป็นอาหารแก่ปลาอีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้มูลสุกรบางส่วนยังเป็นอาหารแก่ปลาได้โดยตรงอีกด้วย
ประโยชน์ของการใช้มูลสุกรในบ่อปลา
เป็นอาหารของปลาสวายโดยตรง ลดต้นทุนการผลิตปลาสวายลงอย่างมาก เศษมูลสุกรที่เหลือบางส่วนในน้ำเป็นต้นกำเนิดลูกโซ่อาหารธรรมชาติแก่ปลาชนิดอื่น ๆ
ทำให้เล้าสุกรสะอาดและความร้อนลดลง
ปริมาณก๊าซแอมโมเนียลดลง หรือหมดไป
ปริมาณแมลงวันซึ่งเป็นพาหะนำโรคของคน และสัตว์ลดลง
ไม่มีมูลสุกรตกค้าง หรือระบายลงแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งอาจเป็นผลให้เกษตรกรรายอื่นได้รับความเดือดร้อนในการใช้น้ำจากแหล่งน้ำนั้น
ลดอัตราการแพร่กระจายของพยาธิภายใน อันเกิดจากการติดต่อทางมูลสุกร
ช่วยกำจัดแหล่งเพาะเชื้อที่จะเกิดจากมูลสุกร เช่น แบคทีเรีย และไวรัส
โดยส่วนรวมแล้วสุขภาพของสุกรแข็งแรงขึ้น ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยารักษาโรคสัตว์
การสร้างคอกสุกรและอัตราส่วนการเลี้ยงต่อคอก
การสร้างคอกสุกรแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ
สร้างบนคันบ่อ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ด้านขวาของคันบ่อ เว้นที่ไว้ให้กว้างพอเหมาะโดย
สร้างคอกและโรงเรือนเป็นรูปทรงหลังคาหน้าจั่ว ถ้าเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ก็สร้างโรงเรือนขนาดกว้างประมาณ 10 เมตร ยาวประมาณ 25 เมตร ส่วนกลางของอาคารเว้นเป็นช่องทางเดิน กว้าง 1-1.5 เมตร พื้นคอกเป็นซีเมนต์ สร้างให้ลาดเอียงลงสู่บ่อทั้งสองด้าน พื้นที่ภายในทั้งสองด้านแบ่งเป็นคอกกว้าง 4x4 เมตร ยาวเรียงติดต่อกันไป ตลอดแนวตามความยาวของอาคาร มีรางอาหารและที่ให้น้ำอัตโนมัติ 2 ราง คอกดังกล่าวเลี้ยงสุกรขุนได้คอกละ 10 ตัว หรือลูกสุกร 30 ตัว สำหรับปัสสาวะและมูลสุกรจะถูกกวาดล้างลงบ่อทางรางส่วนลาดต่ำของพื้นซีเมนต์
ในกรณีที่เลี้ยงสุกรมากกว่าอัตราส่วนของบ่อที่ใช้เลี้ยงปลาจะต้องสร้างถังรวบรวมปัสสาวะไว้ก่อนปล่อยลงบ่อ โดยใช้ถังทรงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร วางซ้อนกัน 3-4 ลูก เชื่อมติดกันให้แน่นด้วยซีเมนต์ฝังลึกทางปลายรางเพื่อรองรับปัสสาวะและมูลสุกรก่อนปล่อยลงบ่อปลา ทั้งนี้เพื่อสะดวกในการตักน้ำไปใช้เป็นปุ๋ย สำหรับนาข้าว พืชผัก สวนผลไม้ สวนครัว ฯลฯ ผลดีของถังรวบรวมปัสสาวะและมูลสุกรก่อนปล่อยลงบ่อก็คือ ปัสสาวะของสุกรที่ถ่ายใหม่ ๆ จะประกอบด้วยกรดต่าง ๆ ดังนั้นการพักชั่วคราวทำให้ไม่มีอันตรายต่อปลาและเป็นประโยชน์ต่อแพลงก์ตอนพืชในน้ำได้ทันที นอกจากนี้ การหมักมูลสุกรพร้อมเศษอาหารเหลือจะช่วยเพิ่มวิตามินและสิ่งมีชีวิตบางชนิดเป็นประโยชน์ต่อปลาด้วย
สร้างคอกลงบนบ่อปลา โดยเลือกพื้นที่ด้านใดด้านหนึ่งที่เหมาะสม พื้นคอกใช้ไม้จริงเนื้อแข็งหรือไม้ตาลตะโนด พื้นคอกมีช่องเล็ก ๆ ซึ่งสามารถจะกวาดและชะล้างทำความสะอาดให้มูลสุกรและเศษอาหารตกหล่นลงสู่บ่อได้สะดวก ส่วนขนาดคอกแบ่งเป็นคอกเลี้ยงสุกรได้คอกละประมาณ 10 ตัวเช่นเดียวกัน การสร้างคอกแบบดังกล่าว จำเป็นจะต้องพิจารณาจำนวนสุกรที่เลี้ยงให้สัมพันธ์กับขนาดของบ่อปลาด้วย ถ้าเลี้ยงสุกรจำนวนมากเกินกว่าขนาดของบ่อปลาก็จะเกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย เพราะปัสสาวะและมูลสุกรถ่ายลงในบ่อโดยตรง
อัตราส่วนจำนวนสุกรกับขนาดของบ่อปลา
โดยทั่วไปพบว่า การเลี้ยงสุกร 8-16 ตัว พอเหมาะกับบ่อเลี้ยงปลาขนาด 1 ไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดปลาที่เลี้ยงด้วย ในขณะที่สุกรมีขนาดเล็กการขับถ่ายมูลและปัสสาวะมีไม่มากเพียงพอกับปลาที่จะเลี้ยงในบ่อ บ่อขนาด 1 ไร่ จะปล่อยปลาขนาด 3-5 เซนติเมตรประมาณ 3,200 ตัว ดังนั้นขณะที่สุกรยังเล็กอยู่จำเป็นต้องให้อาหารสมทบราคาถูก เช่น รำข้าว เศษอาหารเหลือ เศษพืชผัก ฯลฯ แก่ปลาที่เลี้ยงด้วย หรือในขณะที่สุกรยังเล็กก็เพิ่มจำนวนสุกรให้มากขึ้น เพื่อให้มีสิ่งขับถ่ายเพียงพอและเมื่อสุกรโตขึ้นมีขนาดเฉลี่ยตัวละ 50 กิโลกรัมขึ้นไป อัตราส่วนสุกร 16 ตัวจึงเหมาะสมกับบ่อเลี้ยงขนาด 1 ไร่
พันธุ์ปลาที่เหมาะสมจะเลี้ยงร่วมกับสุกร
พันธุ์ปลาที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงร่วมกับสุกร พิจารณาในด้านชีววิทยาและนิเวศน์วิทยา ตลอดจนการตลาด ควรเลี้ยงปลานิลและปลาสวาย เพราะเป็นปลาที่อดทนต่อสภาพแวดล้อมและคุณสมบัติของน้ำเกี่ยวกับปริมาณของออกซิเจนที่เปลี่ยนแปลงในช่วงกลางวันและกลางคืน ดังนั้นจึงสามารถปล่อยเลี้ยงในอัตราหนาแน่นสูง เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้มากที่สุด
นอกจากปลานิลและแลาสวายที่ใช้เป็นหลักในการเลี้ยงร่วมกับสุกรแล้ว อาจปล่อยปลาประเภทกินแพลงก์ตอน เช่น ปลาไน ตะเพียนทอง ยี่สกเทศ ปลาซ่ง ลิ่น หรือนวลจันทร์เทศ เลี้ยงรวมได้อีกจำนวนหนึ่งตามความเหมาะสม ส่วนปลากินพืช เช่น ปลาตะเพียนขาว เมื่อปล่อยลงเลี้ยงรวมด้วยจะมีอัตราการรอดตายต่ำ
พันธุ์สุกรและอาหารที่ใช้เลี้ยง
เนื่องจากการเลี้ยงสุกรมักประสบปัญหาการขาดทุนเกี่ยวกับราคาตกต่ำ ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งคือ ผลผลิตต่ำไม่ได้มาตรฐานอันเนื่องมาจากพันธุ์สุกรที่เลี้ยงและคุณภาพของอาหารไม่เหมาะสม ดังนั้นในเรื่องพันธุ์สุกรควรใช้พันธุ์ลูกผสม 3 หรือ 4 สายเลือด (ลาร์จไวท์ + แลนด์เรซ + ดูรอค + เพียนเทียน) ขนาดเริ่มต้นเฉลี่ยตัวละ 10 กิโลกรัม ซึ่งจะต้องผ่านการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ มาแล้ว ส่วนพันธุ์ผสมระหว่างสุกรพันธุ์แท้กับพันธุ์พื้นเมืองอื่น ๆ ก็ใช้ได้ แต่ราคาที่จำหน่ายได้อาจไม่ดีเพราะคุณภาพของเนื้อไม่ได้มาตรฐาน ในแง่ดีก็คือ ลดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร เพราะสุกรลูกผสมพื้นเมืองกินอาหารไม่เลือก และมีความอดทนต่อสภาพแวดล้อมดีกว่าลูกผสมพันธุ์แท้
ส่วนอาหารที่ใช้เลี้ยงสุกรจะผสมขึ้นใช้เอง โดยใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น และซื้อหัวอาหารมาผสมเองก็ได้
สูตรอาหารสุกร
ใช้อาหารพื้นบ้านประเภทรำข้าว ปลายข้าว ปลาป่นผสมหัวอาหาร ในส่วนของปลายข้าวอาจใช้มันสำปะหลังทดแทนได้บางส่วนตามความเหมาะสม เพื่อลดต้นทุนค่าอาหาร โดยมีปริมาณโปรตีนตามขนาดของสุกรที่เลี้ยง ดังนี้
สูตรอาหารสุกร
สุกรขุน 14%
สุกรเตรียมพ่อ-แม่พันธุ์ 13%
สุกรก่อนคลอดมากกว่า 14%
สุกรหลังคลอด 14%
การเก็บเกี่ยวผลผลิต
ในบ่อปลาซึ่งเลี้ยงปลานิลชนิดเดียว ภายหลังที่เลี้ยงปลามาแล้ว 4-5 เดือน ก็ควรจะได้ใช้อวนตาห่างหรือข่ายไนลอนชนิดช่องตา 6-8 เซนติเมตร ทยอยคัดจับปลานิลออกจำหน่าย เพื่อลดอัตราความหนาแน่น ส่วนปลานิลขนาดเล็กถ้ามีมากควรใช้อวนตาถี่จับขึ้นมาตากแห้งแล้วบดผสมเป็นอาหารปลา หรือจำหน่ายให้แก่เกษตรกรที่ต้องการนำไปเลี้ยง ซึ่งวิธีหลังนี้จะทำรายได้ให้แก่ผู้เลี้ยงดีกว่า
ส่วนบ่อที่เลี้ยงปลานิลกับปลาสวาย ควรใช้อวนตาห่างคัดจับปลานิลขนาดใหญ่ออกเป็นครั้งคราว และจับปลาทั้งหมดเมื่อปลาสวายที่เลี้ยงไว้โตมีขนาด 1.0-1.5 กิโลกรัม ซึ่งจะใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 1 ปี
ผลผลิตปลา
ผลผลิตการเลี้ยงสุกรร่วมกับปลา โดยใช้ปลานิลหรือปลาสวายเป็นหลักจากฟาร์มบางแห่งซึ่งมีการจัดการที่ดี อาทิ การเตรียมบ่อ การใส่ปุ๋ยและปูนขาว การอนุบาลลูกปลาให้โตได้ขนาด 5-7 เซนติเมตร แล้วปล่อยลงเลี้ยงร่วมกับสุกรตลอดจนการคัดจับปลาโตจำหน่าย และจับปลาทั้งหมดเมื่อใช้เวลาเลี้ยงปลาเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี พบว่าได้ผลผลิต 1,800 - 2,000 กิโลกรัม ต่อไร่ต่อปี ซึ่งเป็นผลผลิตค่อนข้างสูงมาก
การเลี้ยงปลาร่วมกับการปลูกพืช
การเลี้ยงปลาร่วมกับการปลูกพืช เป็นวิธีการที่เก่าแก่ เนื่องจากการเลี้ยงปลานาน ๆ บ่อจะเสื่อมโทรมจากโคลนเลนซึ่งสะสมอาหารที่เหลือจากปลา แต่จะเป็นประโยชน์ต่อพืชผักต่าง ๆ และจะกลายเป็นอาหารปลาต่อไป
อาหารปลาและปุ๋ยที่เหลือจะสะสมในบ่อรวมทั้งซากปลา ซากสัตว์ พันธุ์ไม้น้ำจะสะสมอยู่ในดินเพิ่มขึ้นทุกปี แบคทีเรียจะย่อยสารเหล่านี้ ก่อให้เกิดก๊าซพิษสะสมอยู่กลายเป็นฮิวมัสโคลนตมสีดำ การสะสมขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการในบ่อเดียวกัน โคลนตมเหล่านี้จะสะสมแบคทีเรีย พยาธิและสารอื่นที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ อีกทั้งทำให้ผลผลิตสัตว์น้ำที่เลี้ยงต่ำลง จึงควรนำออกจากบ่อปลา โคลนตมจะมีปุ๋ยอยู่ในเกณฑ์สูงและมีแร่ธาตุอื่น ๆ อีกมากมาย
โดยทั่วไปควรลอกโคลนเลนออกจากบ่อทุกปี ซึ่งจะนำออก 2 ใน 3 จากพื้นที่ 1 ไร่ (จะเท่ากับ 2.9 ตัน ของปุ๋ยเอ็น:พี:เค (N:P:K)) โคลนในบ่อปลามีส่วนประกอบของปุ๋ยที่ใช้ได้ทันที เท่ากับปุ๋ย 288.5 กิโลกรัม ปุ๋ยโคลนเหล่านี้จะช่วยในการปลูกต้นไม้ เมื่อมีปุ๋ยโคลนที่สะสมจะเพิ่มความหนาของดินในการปลูกพืช ช่วยปรับโครงสร้างส่วนประกอบของดินที่ดูดซับ ปุ๋ยเอ็น:พี:เคและทำให้ดินอุ้มน้ำได้ดีขึ้นอีกทั้งยังมีปุ๋ยปฏิกิริยาช้า สะสมอยู่ในดิน ซึ่งนำไปใช้ในการปลูกพืชฤดูกาลต่อไป
ดินโคลนแห้งที่ถูกนำมาใช้เป็นปุ๋ยน้ำหนัก 100 กิโลกรัม จะใช้เพาะปลูกหญ้า 10 กิโลกรัม ในการขนดินโคลนนอกจากบ่อ 121.2 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ ในหนึ่งปีจะเพียงพอเพาะปลูกข้างพื้นที่ 2.5 ไร่ ผลผลิตข้าวประมาณ 500 กิโลกรัม/ปี และดินโคลนที่เท่ากันจำนวนนี้ หากใช้ปลูกหญ้าจะได้ผลผลิต 14,544 กิโลกรัม/ไร่ และผลผลิตต่อหน่วยในนาที่ใช้ดินโคลน 10-15 ตัน ปลูกหญ้า จะใกล้เคียงกับการใช้ปุ๋ยคอก 5 ตัน
ประโยชน์จากการใช้ดินโคลน
ดินโคลนในบ่อสามารถนำมาใช้ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ดินควรจะตากแห้ง ไถ ทำให้เรียบแล้วจึงหว่านเมล็ดพืช หน้าดินควรปรับปรุงให้เหมาะกับพืชชนิดนั้น ในฤดูร้อนดินโคลนนี้จะระบายน้ำเข้ามาในการเพาะปลูกเพื่อช่วยให้ดินมีการระบายแร่ธาตุ และเพิ่มออกซิเจนในพื้นดิน เพื่อจะขุดหลุมขนาด 5x5 ตารางเมตร ลึก 1 เมตร ใกล้ ๆ บริเวณบ่อและใช้เศษหญ้า พืชผักและดินโคลนตมแต่งหน้าหลังจากหมักแล้วจะนำมาใช้เป็นปุ๋ยหรือจะนำมาตกแต่งหน้าดิน
ผลในทางธุรกิจ
การเลี้ยงปลาร่วมกับการปลูกพืชจะเป็นการเพิ่มอาหารและปุ๋ยในธรรมชาติการใช้อาหารจะลดลง 1 ใน 3 นอกจากนี้พลังงานที่ใช้ในการขนส่งและซื้อปุ๋ยจะลดลงด้วย
การทำฟาร์มเลี้ยงปลาฤดูกาลหนึ่ง ๆ การใช้แรงงานจะเปลี่ยนแปลงในขณะเลี้ยงปลา แรงงานที่เหลือควรนำไปใช้ผลิตจะทำให้มีงานและรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง
การจัดการที่ดินโดยปลูกพืชร่วมกับการเลี้ยงปลา เป็นระบบหนึ่งที่เกษตรกรจะพึ่งตนเองได้ ดินโคลนจะเป็นปุ๋ยในการปลูกพืช
ดินโคลนและบ่อปลาที่อุดมสมบูรณ์ควรปรับระบบนิเวศน์วิทยาของบ่อดินให้ดีอยู่เสมอและควรป้องกันการพังทะลายของดิน
การเลี้ยงปลาสลับกับการปลูกพืช
การเลี้ยงปลาทั่วไปจะไม่ต่อเนื่อง บ่ออนุบาลและบ่อเลี้ยงจะพักตากบ่อช่วงหนึ่ง ในการนี้บ่อสามารถนำไปปลูกพืช หรือใช้ในกิจการต่าง ๆ เพื่อเป็นการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
การหมุนเวียนบ่อเดียว
การเลี้ยงปลาและปลูกพืชหมุนเวียนในบ่อเดียวกัน หลังจากย้ายลูกปลาหรือปลาใหญ่ไปบ่ออื่น โดยการระบายน้ำออกจากบ่อ กำจัดวัชพืชบริเวณคันบ่อ ทำพื้นบ่อให้เรียบขุดคูระบายน้ำ หว่านเมล็ดหญ้าพื้นบ่อและคันบ่อ หลังจากหว่านแล้วควรดูแลนกและควบคุมความลึกของพืชที่หว่าน
การหมุนเวียนหลายบ่อ
การเลี้ยงปลาหลายบ่อ บ่อว่างควรจะใช้ปลูกพืชเพื่อใช้เลี้ยงปลารุ่นต่อไป การหมุนเวียนปลาและพืชผักเป็นการใช้พื้นที่บ่ออย่างเต็มศักยภาพ เพื่อผลิตอาหารธรรมชาติสำหรับสัตว์น้ำ ในระบบนี้พืชผักจะใช้แร่ธาตุจากโคลนดิน หลังจากเกิดการหมักแร่ธาตุจากพืชผักจะกลับคืนสู่บ่อ เป็นการปรับคุณสมบัติของน้ำและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน
ปัญหาและอุปสรรคในการเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน
จากการรับฟังเกษตรกรที่มาติดต่อกับหน่วยงานของราชการส่วนใหญ่ ในขณะนี้พบว่ายังมีปัญหาบางประการที่จะต้องแก้ไข เพื่อปรับปรุงการเลี้ยงปลาแบบผสมผสานของเกษตรกรให้ได้ผลดียิ่งขึ้น คือ
เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจการเลี้ยงปลาที่ถูกต้องทำให้ประสบปัญหาในเรื่องน้ำเสีย ปลาเป็นโรค หรือปลาตายมาก เป็นต้น ซึ่งมาจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1 ปล่อยปลาในบ่อหนาแน่นเกินไป ทำให้ปลาไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร
2 จำนวนสัตว์เลี้ยงไม่สัมพันธ์กับปลาในบ่อ ถ้าจำนวนสัตว์เลี้ยงน้อยเกินไปต้องเพิ่มอาหารสม
ทบจะเป็นการสิ้นเปลือง หรือถ้าจำนวนสัตว์เลี้ยงมาก น้ำในบ่อเป็นสีเขียวเข้มเพราะมีแพลงก์ตอนพืชเกิดมากก็จะดึงเอาออกซิเจนจากน้ำไปใช้ทำให้ปลาตายได้
3 บ่อที่ขุดใหม่ ๆ จะมีปัญหาถ้าดินเปรี้ยว เพราะเมื่อฝนตกน้ำจะชะเอาความเปรี้ยวจากดินลงสู่บ่อ
สภาพน้ำเปลี่ยนแปลงกะทันหัน อาจทำให้ปลาตายได้ ซึ่งแก้ไขโดยนำปูนขาวโรยบริเวณขอบคันบ่อก่อนฤดูฝนและทุก 2 สัปดาห์
4 การใช้ยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืช ในไร่นาที่มีการเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ
ควรหลีกเลี่ยงเพราะจะเป็นอันตรายต่อปลาได้
การกำหนดราคาขายปลายังอยู่ในมือพ่อค้าคนกลาง ซึ่งมักจะเอารัดเอาเปรียบตั้งราคาให้ต่ำกว่า
ที่เป็นจริงมาก เพื่อหวังทำกำไรให้มากที่สุด เกษตรกรผู้เลี้ยงปลามักจะแยกกันเป็นเอกเทศไม่มีการรวมกลุ่ม ทำให้ไม่มีอำนาจต่อรองใด ๆ กับพ่อค้าคนกลาง
ขาดแหล่งจำหน่ายพันธุ์ปลาที่มีคุณภาพดี และมีจำนวนมากเพียงพอพันธุ์ปลาที่มีปัญหามากที่
สุดในขณะนี้คือ ปลานิล ซึ่งหาลูกปลาพันธุ์แท้ได้ยากมากเมื่อเลี้ยงปลาลูกผสม ปลาจะโตช้า ผลผลิตต่ำ ทั้งยังขายได้ราคาต่ำเพราะมีสีดำเข้มไม่น่ารับประทาน ส่วนพันธุ์ปลาสวายในบางปีจะขาดแคลนและมีราคาสูงมากพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุยบางครั้งก็มีการปลอมปน โดยเอาลูกปลาดุกยักษ์มาหลอกขาย เป็นต้น
ข้อเสนอแนะสำหรับเกษตรกรที่จะเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน
ควรศึกษาหาความรู้ด้านการเลี้ยงปลาให้ดีก่อนที่จะดำเนินการโดยการหาเอกสารคำแนะนำ
ตำราที่เขียนให้เฉพาะเกษตรกรมาอ่านก่อนแล้วสอบถามเพิ่มเติมจากผู้รู้ ซึ่งได้แก่ เจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่หรือขอเข้ารับการอบรมจากหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐที่เปิดอบรมทุกปี ปีละหลาย ๆ ครั้ง
ผู้เลี้ยงปลาควรรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เพื่อสร้างอำนาจต่อรองไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าพันธุ์สัตว์ พ่อค้า
สัตว์น้ำ หรือพ่อค้าอาหารสัตว์ ถ้าสามารถรวมกลุ่มกันได้และมีความสามัคคีพร้อมเพรียงกันแล้วปัญหาเรื่องการถูกโก่งราคา ปัจจัยการผลิต และการกดราคารับซื้อผลผลิตจะทุเลาเบาบางลงไปอย่างมาก
เกษตรกรควรหมั่นติดตามข้อมูลข่าวสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพอย่าง
สม่ำเสมอ เพื่อจะได้รับรู้ข่าวสารที่ทันสมัยสำหรับใช้ตัดสินใจในการประกอบอาชีพให้ได้ผลดียิ่งขึ้น เช่น การอ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ฟังวิทยุ และชมโทรทัศน์ รายการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม เป็นต้น
เกษตรกรควรหมั่นฝึกตนให้เป็นคนหนักแน่น รู้จักพินิจพิเคราะห์ในการประกอบอาชีพ จึงจะ
ได้ผลสำเร็จที่แท้จริง
แนวโน้มการเลี้ยงปลาแบบผสมผสานในอนาคต
จากผืนแผ่นดินซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดและคงที่ แต่ความต้องการใช้ประโยชน์กลับเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา เนื่องจากการดิ้นรนเพื่อแสวงหาปัจจัยสี่อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิต การเลี้ยงปลาแบบผสมผสานเป็นการเลี้ยงปลาอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะช่วยพัฒนาพื้นที่ให้เกิดศักยภาพในการเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ลดปัญหาขาดแคลนอาหารโปรตีน ทั้งยังก่อให้เกิดรายได้ และช่วยให้สภาพแวดล้อมมีความสมดุล ไม่ส่งผลกระทบต่อการเสริมสร้างมลภาวะในสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถใช้น้ำเพื่อการเลี้ยงปลา ขอบคันบ่อเป็นที่เลี้ยงสัตว์บกและปลูกพืชผัก จึงเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าในที่สุด